ม.นเรศวร คิดค้นเครื่องตรวจการได้รับกลิ่นแยก โรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 NU Spiro Breathe หนึ่งเดียวในประเทศ
พร้อมพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาเพื่อลดความเสี่ยงในสถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 วางจำหน่ายปลายเดือน กุมภาพันธ์นี้
วันที่ 12 มกราคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ดร.ภก.ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนยุทธ ศรีหิรัญ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคิดค้น เครื่องมือ NU Spiro Breathe ตรวจการได้รับกลิ่น แยกโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินการอุดตันของโพรงจมูก ช่วยในการฝึกสมรรถภาพการหายใจของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยมีการวิจัยทางคลินิกที่แสดงให้เห็นว่าไม่ก่อนให้เกิดอันตรายใดๆ และแม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานได้ ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้งานด้วยตนเองที่บ้านได้
สำหรับเครื่องมือประเมินการอุดตันของโพรงจมูก มีลักษณะทรงกระบอกและท่อยางสำหรับหายใจเข้า-ออกจมูก ใช้วัดปริมาตรและวัดแรงดันจากการหายใจ ทำงานโดยอาศัยหลักการวัดค่าความดันแตกต่างกรณีที่ของเหลวในหลอดทั้งสองด้านอยู่ภายใต้สภาวะความดันเดียวกัน ระดับความสูงของ ของเหลวภายในหลอดั้งสองจะเท่ากัน เรียกว่า ระดับศูนย์ของสเกล และเมื่อมีความดันจากภายนอกมากระทำกับหลอดทางด้านซ้าย ระดับความสูง ของเหลวในหลอดด้านซ้ายจะลดลง ส่วนของเหลวด้านขวาจะมีความสูงเพิ่มขึ้น โดยค่าความดันแตกต่างที่กระทำกับของเหลวทั้งสองด้านมีค่าแปรผันตรงกับความแตกต่างของความสูงของเหลวที่บรรจุในหลอด ดังนั้น จึงคุณสมบัติเหมาสมในการนำมาประยุกต์ใช้ประเมินการอุดตันของโพรงจมูก เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะจมูกอุดตัน ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
นอกจากนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินอาการของโรค โควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง และสามารถใช้เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะจมูกอุดตันได้ไปพร้อมๆกัน ความโดดเด่นของเครื่องมือนี้ คือ การใช้หลักการที่ง่ายแต่มีประโยชน์มาก และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการประดิษฐ์เครื่องมือต้นแบบ จนสามารถพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตา EDANU ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการใช้ช่วยหยอดตาในประชาชนทั่วไป ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ด้วย โดยไม่ต้องมีการสัมผัสของมือกับผิวหนังรอบดวงตา หรือดวงตา จึงลดโอกาสการติดเชื้อแทรกซ้อนจากมือของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถใช้เครื่องมือได้ ถึงแม้จะมีมือเพียงข้างเดียว โดยนวัตกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ ขณะนี้ได้มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีวางจำหน่ายหน่ายในปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ในราคาที่ประชาชนสามารถหาซื้อมาใช้ในครัวเรือนได้
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก