กรมชลประทาน จับมือการประปานครหลวง เฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมปรับแผนการระบายน้ำ
เตรียมพร้อมปฏิบัติการ water hammer หวังลดค่าความเค็ม ไม่ให้ส่งผลกระทบน้ำประปา
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (11 ม.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน ทั้งสิ้น 46,803 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,721 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,618 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,922 ล้าน ลบ.ม.ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,720 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1.560 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของแผนฯ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา มีฝนตกทางตอนบนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับมีการเพาะปลูกข้าวนาปีล่าช้า เนื่องจากฝนตกช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมาน้อย แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงเหลือพื้นที่รอการเก็บเกี่ยวประมาณ 300,000 ไร่ กรมชลประทาน จะให้การช่วยเหลือจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ พร้อมขอความร่วมเกษตรกรและประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
สำหรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง(storm surge) วันที่ 10 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำท่าจีน และแม่น้ำบางประกง เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วัดค่าความเค็มได้ 1.36 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ที่สถานีปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน วัดค่าความเค็มได้ 1.70 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ที่สถานีวัดน้ำปากคลองดำเนินสะดวก แม่น้ำแม่กลอง วัดค่าความเค็มได้ 0.37 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) กรมชลประทาน ได้ร่วมกับการประปานครหลวง(กปน.)ปฏิบัติการ water hammer เพื่อผลักดันน้ำเค็ม โดย กปน.จะหยุดสูบน้ำในช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำจากตอนบนลงมาไล่น้ำเค็ม ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำด้านท้ายน้ำด้วยการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำ ซึ่งได้มีการพิจารณาปรับเลื่อนเวลาในการปฏิบัติการให้เร็วขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาปรับลดการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด