รอง ผวจ.ประจวบฯ เร่งแก้ปัญหาน้ำนมดิบผลิตนมโรงเรียน
วันที่ 11 มกราคม นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.) และตัวแทนสหกรณ์โคนมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังจากเมื่อ วันที่ 8 มกราคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบให้สำนักงาน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมหรือ อ.ส.ค.ภาคใต้ และ อ.ส.ค.มวกเหล็ก จ.สระบุรี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อระบายน้ำนมดิบวันละ 40 ตันของ 6 สหกรณ์โคนมใน จ.ประจวบฯ และ จ.เพชรบุรี เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นนม ยู.เอช.ที. เพื่อขายคืนให้กับชุมนุมสหกรณ์ในราคาโรงงาน กล่องละ 7 บาท จากนั้นนำไปบริหารจัดการจำหน่ายเอง โดย อ.ส.ค.จะรับน้ำนมดิบเพื่อผลิตได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564
นายชาตรี กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อยุติ กรณีขอความร่วมมือผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหาร อปท.ช่วยบริหารจัดการนมโรงเรียน เพื่อนำไปแจกนักเรียนในช่วงปิดโรงเรียนจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งจะทำให้ 6 สหกรณ์โคนม ระบายน้ำนมดิบได้วันละกว่า 20 ตัน จึงจัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม แต่ติดขัดจากปัญหาการใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่ที่ศาลากลางจังวหวัด เนื่องจากจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ขณะที่กรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งว่าหากมีผู้ร่วมประชุมจำนวนมาก ขอให้แบ่งจำนวนผู้เข้าประชุมให้เหมาะสม จึงต้องจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องหลายครั้ง ขณะที่ปัญหาการระบายสต๊อกนมเป็นเรื่องเร่งด่วน หากไม่มีข้อยุติร่วมกันจะมีปัญหา หลังวันที่ 15 มกราคม นี้ เนื่องจากจากพ้นกำหนดที่ อ.ส.ค.ภาคใต้จะรับซื้อนมตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดแนวทางช่วยเหลือในระยะสั้น
นายชาตรี กล่าวว่า การประชุมเป็นการหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมที่จะผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ แต่จะไม่สามารถจำหน่ายให้ อปท.ได้หลังวันที่ 15 มกราคมนี้ เนื่องมาจากคำสั่งปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาได้สะท้อนปัญหานมพาสเจอไรซ์ จะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมและมีระยะเวลาเก็บรักษาไม่นาน หาก อปท.จัดซื้อและมอบให้โรงเรียนเพื่อแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนจะทำให้ยากต่อการบริหารจัดการในช่วงนี้ที่อยู่ในช่วงของการปิดโรงเรียน หากนัดผู้ปกครองมารับก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก
“ ผู้ปกครองบางรายอาจไม่สะดวกเพื่อรับนม จะทำให้เกิดปัญหานมเน่าเสียได้ โรงเรียนจึงต้องการนมกล่อง ยู.เอช.ที.ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน แต่ทาง อ.ส.ค.ไม่สามารถที่จะรับน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมเข้าสู่กระบวนการผลิตนม ยู.เอช.ที.ได้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ต้องเร่งสำรวจว่ามีโรงเรียนแห่งใด ที่จะสามารถรับนมพาสเจอร์ไรซ์ซึ่งจัดซื้อโดยงบประมาณของ อปท. นำไปบริหารจัดการแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนได้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม”นายชาตรี กล่าว
พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายงาน