กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งอย่างต่อเนื่องตามแผนให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำใต้ฝนยังตกหนัก
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังจากเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (4ม.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,887 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 22,957 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,805 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 5,109 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,922 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,353 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ
ทั้งนี้ ยังคงเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (9 มาตรการ) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและ ลุ่มน้ำแม่กลอง ให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน ต้องสำรองน้ำไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ส่วนทางด้านพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 4 – 8 ม.ค. 64 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้