ทีเส็บ เผยโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ปลุกตลาดไมซ์คึกคักทั่วประเทศ

ทีเส็บ เผยโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” 

ปลุกตลาดไมซ์คึกคักทั่วประเทศ

 

 

14 ธันวาคม 2563 กรุงเทพฯ: ทีเส็บเผยผลโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” เพื่อกระตุ้นกิจกรรมไมซ์ในประเทศ เอกชนร่วมมือคึกคักกว่า 62,000 คน จากกว่า 1,000 กลุ่ม สร้างรายได้แก่ธุรกิจประมาณ 130 ล้านบาท หรือกว่าหกเท่าของงบกระตุ้นการประชุม

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัดโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” รณรงค์ให้องค์กรเอกชนเร่งจัดประชุมสัมมนาและให้รางวัลพนักงานเดินทางในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก

ขณะนี้มีองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการตลอดระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 20 ตุลาคม 2563 จำนวน 1,049 กลุ่ม คิดเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น 62,555 คน กระจายการจัดงานไปยัง 50 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ก่อให้เกิดรายได้แก่ธุรกิจประมาณ 130 ล้านบาท

“โครงการฯ นี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่านการจัดประชุมสัมมนาและกิจกรรมไมซ์ในประเทศ ขณะที่ตลาดไมซ์ต่างประเทศยังไม่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมในไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 19 โดยทีเส็บให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดงานแก่องค์กรเอกชนที่ขอรับการสนับสนุนในรูปแบบบัตรกำนัลมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อกลุ่มตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยโครงการฯนี้ ทีเส็บได้ใช้งบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งนับว่าได้ผลตอบรับที่ดีมากในการสร้างให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ”

กิจกรรมไมซ์ที่ทีเส็บให้การสนับสนุนทั้ง 6 ด้านนั้น พบว่า การสัมมนาองค์กร มีจำนวนมากที่สุดถึง 35% คิดเป็นจำนวนงาน 315 งาน จากทั้งหมด 896 งาน รองลงมาคือ การประชุมองค์กร 27% มีจำนวน 246 งาน กิจกรรมนอกสถานที่ทำการของบริษัท 14% มีจำนวน 127 งาน กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ 10% มีจำนวน 94 งาน กิจกรรมเพื่อสังคม 9% มีจำนวน 81 งาน และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลองค์กร 4% มีจำนวน 33 งาน

หากพิจารณาการจัดงานภายใต้แนวคิด 7 รูปแบบ กิจกรรมการสร้างทีมเวิร์ค ได้รับความนิยมสูงสุดถึง 63% คิดเป็นจำนวน 377 งาน จากทั้งหมด 596 งาน รองลงมาคือกิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ 15% มีจำนวน 88 งาน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 10% มีจำนวน 59 งาน กิจกรรมบรรยากาศชายหาด 5% มีจำนวน 31 งาน การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ 4% มีจำนวน 23 งาน กิจกรรมนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย 2% มีจำนวน 11 งาน และการผจญภัย 1% มีจำนวน 7 งาน

“จากสถิติงานที่ขอรับการสนับสนุนพบว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายด้าน แต่องค์กรบริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการจัดประชุมสัมมนาตลอดจนกิจกรรมที่ช่วยสร้างทีมเวิร์คให้กับองค์กร ดังนั้นการรณรงค์ส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในประเทศจึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ และกระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจนถึงระดับชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2564 นี้ ตลาดไมซ์จะเติบโตประมาณ 3.5% โดยมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศประมาณ 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย