กรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเคร่งครัด
เน้นเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีล่าช้าเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (10 ธ.ค.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 48,088 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,159 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,368 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 5,672 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ปัจจุบัน (10 ธ.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,040 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 707 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% ของแผนจัดสรรน้ำฯ
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้เกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวนาปีได้ล่าช้า ซึ่งกรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ โดยไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่สามารถสนับสนุนได้ อีกทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 63/64 ด้วยการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ รวมไปถึงในแม่น้ำลำคลอง พร้อมทั้งจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การกำหนดแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง วางแผนเพาะปลูกฤดูแล้ง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันในการควบคุมคุณภาพน้ำตามลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี