กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดข องหนอนชอนใบส้ม
สวนส้มโอในช่วงอากาศเย็นลงและมีลมแรงแบบนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดของหนอนชอนใบส้ม จะสามารถพบได้ในระยะที่ต้นส้มโอแตกใบอ่อน เกษตรกรจะพบผีเสื้อตัวเต็มวัย วางไข่ใต้เนื้อเยื่อใบใกล้เส้นกลางใบ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะชอนไชเข้าไปทำลายกัดกินเนื้อเยื่ออยู่ในระหว่างผิวใบอ่อนและยอดอ่อน ตัวหนอนจะทำลายด้านใต้ใบมากกว่าบนใบ รอยทำลายจะสังเกตได้ง่ายตั้งแต่เริ่มทำลายโดยเห็นเป็นเส้นทางสีขาวเรียวยาวในระยะเริ่มแรก และรอยทำลายจะปรากฏขยายใหญ่ขึ้นเป็นทางคดเคี้ยวไปมาบนใบ ส่งผลให้ใบมีลักษณะบิดงอลงทางด้านที่มีตัวหนอนทำลาย หากระบาดรุนแรง ตัวหนอนจะเข้าทำลายกิ่งอ่อนและผลอ่อน ซึ่งรอยแผลที่เกิดจากการทำลายของตัวหนอนจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas citri subsp. citri ที่เป็นเชื้อสาเหตุของโรคแคงเกอร์เข้าทำลายซ้ำได้
เกษตรกรควรควบคุมบังคับต้นส้มให้แตกยอดพร้อมกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด ช่วยควบคุมประชากรหนอนชอนใบส้มได้ดีขึ้น สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี และช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบมากในสวนส้ม ส่วนใบอ่อนที่พบหนอนชอนใบส้มเข้าทำลายมาก ให้เกษตรกรตัดและเก็บยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่ถูกทำลายนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณหนอนชอนใบส้มและช่วยในการแตกยอดของต้นส้มรุ่นต่อไป
นอกจากนี้ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนในระยะที่ต้นส้มแตกใบอ่อน หากพบหนอนชอนใบส้มเข้าทำลายยอดอ่อนมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งหน้าใบและหลังใบ กรณีที่สำรวจพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบส้มอยู่ให้พ่นซ้ำ อีกทั้งในการใช้ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ในการป้องกันกำจัดหนอนชอนใบส้มให้มีประสิทธิภาพดีนั้น เกษตรกรต้องทำการพ่นสารโดยการใช้อัตราน้ำมากกว่าการพ่นสารฆ่าแมลงทั่วไป เพื่อให้สารน้ำมันเคลือบใบพืช