ชุมชนหนองบึกทุ่ง เทศบาลเมืองนครพนม เปิดโครงการธนาคารขยะ แปลงของไร้ค่าให้มีมูลค่า
ชาวบ้านชื่นชมประธานชุมชนหญิงแกร่ง
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 น. บริเวณวัดป่ามงคลสันติสุข ชุมชนหนองบึกทุ่ง ต.หนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นางภาวิณี โสมณวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลเมืองนครพนม ร่วมกับ นางสาว พัชญทัฬห์ กิณเรศ นักวิจัย/หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยนครพนม และ นายณัฐชา โพนไชยา 44ปี ผู้ใหญ่บ้านนาราชควาย หมู่ 11 ต.นาราชควาย อ.เมืองนครพนม ร่วมเป็นประธานเปิดกิจกรรมธนาคารขยะชุมชนฯ โดยมี นางสาว เกตุแก้ว พรมลา ประธานชุมชนหนองบึกทุ่ง และประชาชนในพื้นที่ กล่าวถึงผลการปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดธนาคารขยะฯ
น.ส.พัชญทัฬห์ฯ เปิดเผยว่า ที่มาที่ไปในการทำโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโครงการธนาคารขยะ ทางเราก็ได้มองหาชุมชนต้นแบบอยู่จำนวน 5 พื้นที่ ที่อยู่ในเขตเทศบาล และชุมชนหนองบึกทุ่งเป็น 1 ใน 5 ที่ต้องการอยากจะขับเคลื่อนในเรื่องของการพัฒนาด้านการจัดการขยะร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยคัดสรรผู้นำชุมชน และชุมชนที่มีความเข้มแข็งมีความสามัคคี พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาในด้านของการจัดการขยะ และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนข้างเคียงในเขตอำเภอเมืองฯได้ “ตอนนี้ในเขตอำเภอเมืองฯ มีทั้งหมด 5 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ได้แก่ ชุมชนหนองบึกทุ่ง , ชุมชนโอกาส 2 ,ชุมชนหนองแสง 2,ชุมชนวัดมหาธาตุ และชุมชนวัดกลาง” น.ส.พัชญทัฬห์ฯ นักวิจัย/หัวหน้าโครงการ กล่าว
ด้าน น.ส.เกตุแก้ว พรมลา ประธานชุมชนหนองบึกทุ่ง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในฐานะของประธานชุมชนหนองบึกทุ่ง ก็อยากจะพัฒนาในเรื่องของขยะ เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาในเรื่องของปริมาณขยะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนล้น มองแล้วไม่น่าดู การตั้งธนาคารขยะในชุมชน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะนอกจากจะช่วยให้ปัญหาการทิ้งขยะลดลงแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อชาวบ้านเพราะสามารถนำขยะมาสร้างรายได้จากการฝากขยะกับทางธนาคาร เพื่อแปรสภาพมาเป็นเม็ดเงินมาช่วยเหลือสมาชิกได้อีกด้วย และหากสะสมจนครบ 300 บาท สมาชิกก็จะสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารขยะฯได้ถึง 10 เท่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีความเป็นต้องการใช้เงินในยามฉุกเฉิน โดยไม่ไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ
“การตอบรับของชาวชุมชนหนองบึกทุ่งในวันเปิดธนาคารขยะเป็นวันแรกนั้นถือว่ามีการตอบรับที่ดี มีผู้นำขยะมาฝากกับทางธนาคารค่อนข้างมากโดยมีเสียงเรียกร้องมาว่าอยากให้ทางธนาคารเปิดรับฝากขยะอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งเนื่องจากว่ามีขยะค่อนข้างเยอะ และไม่รู้ว่าจะนำไปขายที่ไหน พอทราบว่ามีธนาคารขยะมาเปิดใกล้บ้าน ก็รู้สึกว่าการจัดการขยะจะสะดวกมากขึ้น เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกเปิดธนาคารขยะฯ จึงมีโปรโมชั่นพิเศษ สมัครเป็นสมาชิก 20 คนแรก เลือกรับของที่ระลึก เช่น ผักสวนครัว,ไม้แขวนเสื้อ หรือตะกร้า ฯลฯ” น.ส.เกตุแก้วฯประธานชุมชนหนองบึกทุ่ง กล่าว
นางสมจิตร บุญตาท้าว อายุ 64 ปี ชาวชุมชนหนองบึกทุ่ง กล่าวว่า วันนี้ได้นำเอาขวดพลาสติกและกระป๋องเครื่องดื่มมาฝากไว้ที่ธนาคาร รู้สึกดีใจที่ทางชุมชนหนองบึกทุ่งมีธนาคารขยะ เพราะนอกจากจะทำให้ในพื้นที่ดูสะอาดตามากขึ้นแล้ว ชาวบ้านก็ยังมีรายได้จากการนำขยะมาฝากไว้ที่ธนาคาร ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเงินเล็กๆน้อยๆ แต่มันก็สามารถสะสมกลายเป็นเงินก้อนได้ และหากว่าสมาชิกเดือดร้อนก็สามารถมากู้ยืมเงินจากธนาคารได้อีกด้วย และวันนี้ทางธนาคารก็มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับสมาชิก 20 คนแรก สามารถเลือกรับของสมนาคุณได้ ซึ่งตนก็ได้เลือกเป็นมะละกอเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน
สำหรับข้อกำหนดของสมาชิกธนาคารขยะชุมชนหนองบึกทุ่ง 1.เปิดรับฝากขยะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง 2.สมาชิกสามารถเบิก-ถอนเงินได้ ในเดือนถัดไป หลังจากนำขยะมาฝากแล้ว 3.หลังเปิดบัญชีธนาคารขยะฯ มีสิทธิ์รับเงินปันผล 10 % ปีละ 1 ครั้ง และสามารถกูยืมเงินในโครงการในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชาชนในชุมชนหนองบึกทุ่ง ต.หนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ได้รับความเดือนร้อนจากปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสีย และทัศนอุจาด เป็นต้น ทำให้เกิดข้อร้องเรียนของคนในชุมชน ดังนั้นผู้วิจัยจึงศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณขยะของชุมชน โดยการวางแผนการเรียนรู้ร่วมกันแบบชี้แนะแนวทาง การสอบถาม การประชุมกลุ่มย่อย ระดมสมอง สรุป นำเสนอผลการเรียนรู้ร่วมกัน และทดลองปฏิบัติ ผลการวิจัยพบว่า ก่อนมีการดำเนินโครงการ ชุมชนหนองบึกทุ่งมีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก จึงมีปัญหาขยะล้นถัง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในชุมชน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนในชุมชนได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม และหลังจาก น.ส.เกตุแก้ว พรมลา ได้รับความวางไว้ใจจากชาวบ้านชุมชนหนองบึกทุ่ง เป็นประธานชุมชนฯ ก็ได้เดินหน้าผลักดันให้ในชุมชนฯมีความสะอาด ปราศจากขยะมูลฝอย จึงเข้าไปหารือกับหัวหน้าโครงการขยะฯ มหาวิทยาลัยนครพนม กระทั่งบรรลุเป็นผลสำเร็จดังกล่าว โดยขยะที่รับฝากทั้งหมด ทางชุมชนหนองบึกทุ่ง จะส่งขายให้กับกลุ่มธนาคารขยะชุมชน ต.นาราชควาย ที่เป็นต้นแบบในการกำจัดขยะที่ไร้ค่า กลายมาเป็นขยะที่มีมูลค่า
เทพพนม รายงาน