รมช.ธรรมนัส เยี่ยมชมโครการการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมโครการการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว (ปลูกปาล์มน้ำมัน) เป็นเกษตรผสมผสาน พร้อมพบปะเกษตรกร ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามประเมินผลโครงการ
“โดยจะใช้แนวคิดในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีแนวคิดในการทำงาน คือ “คิด ทำ สำเร็จ บอกต่อ” โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน มาทำเกษตรผสมผสาน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ สร้างโรงสีข้าว เพื่อสีข้าวไว้บริโภค และให้บริการสีข้าวแก่เกษตรกรในชุมชน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผลิตผักอินทรีย์ นำมูลสัตว์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำสารไล่แมลงจากพืชสมุนไพรในระบบการปลูกพืช” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ปัจจุบันมีสมาชิกศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาที่ดินดังกล่าว จำนวน 65 ราย โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ได้นำหลักแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองจนเกิดรายได้อย่างยั่งยืนแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกษตรกรมีความต้องการที่จะผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค เป็นแปลงต้นแบบการบริหารพื้นที่ และกลุ่มเกษตรกรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภายในงานยังได้มอบบัตรดินดีแก่เกษตรกร จำนวน 5 ราย อีกด้วย