กรมวิชาการเกษตร ผลิตพืชอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร สร้างรายได้เพิ่มกว่าแสนบาทต่อไร่
กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์นำร่องนครพนมและกาฬสินธุ์ ทดสอบเทคโนโลยีใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินพร้อมใช้ชีวภัณฑ์กำจัดโรคและแมลงเปรียบเทียบวิธีของเกษตรกร ชี้ผลผลิตเพิ่มถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ชูชีวภัณฑ์คุมโรคและศัตรูพืชได้ผล ผุดแปลงต้นแบบตามเทคโนโลยี 16 แปลง สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1 แสนบาท / ไร่
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวน 570,409 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวอินทรีย์ร้อยละ 59 พืชไร่ร้อยละ 15 และพืชผักผลไม้ผสมผสาน ร้อยละ 13 ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดของไทยถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังมีค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งสภาพพื้นที่และนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้การผลิตภาคเกษตรเปลี่ยนเป็นระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นหลักในขณะที่พืชชนิดอื่นยังมีน้อย เนื่องจากกระบวนการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก และผู้ผลิตยังขาดความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และขาดวิธีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งผลิตและผลผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และนครพนมตามยุทธศาสตร์จังหวัดและความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการพัฒนาการผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมโดยคัดเลือกเกษตรกรจังหวัดละ 5 รายที่มีความพร้อมเข้าร่วมการทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารสำหรับการผลิตผักอินทรีย์และการจัดการศัตรูพืชโดยใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชซึ่งเป็นเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเปรียบเทียบกับวิธีของเกษตรกร โดยเลือกพืชทดสอบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี และคะน้า ส่วนจังหวัดนครพนมเลือกพืชทดสอบ 2 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้ง และหอมแบ่ง ซึ่งเป็นพืชเดิมที่เกษตรกรปลูกเป็นที่ต้องการของตลาดและมีปัญหาด้านโรคและแมลงศัตรูพืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการทดสอบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรพบว่าเทคการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ย การควบคุมการระบาดของด้วงหมัดผักและหนอนกินใบโดยใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าและต้นกล้าเน่าโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยหมักคลุกดิน หรือรองก้นหลุมพร้อมปลูก การควบคุมโรคใบไหม้ของหอมแบ่งและโรคราน้ำค้างของคะน้าโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมน้ำพ่น สามารถควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีทำให้ได้ผลผลิตผัก 3 ชนิดที่ทดสอบในจังหวัดกาฬสินธุ์เพิ่มขึ้นมากกว่าวิธีการของเกษตรกรถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยกะหล่ำปลีได้ผลผลิต 3,218 กิโลกรัม/ไร่ คะน้า ได้ผลผลิต 1,090 กิโลกรัม/ไร่ และกวางตุ้งได้ผลผลิต 1,567 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนที่จังหวัดนครพนมได้ผลผลิตกวางตุ้ง 1,713 กิโลกรัม/ไร่ และหอมแบ่งได้ผลผลิต 1,671 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าวิธีเกษตรกร 17 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้จากผลการทดสอบใน 2 จังหวัดจะเห็นได้ว่าวิธีการจัดการปุ๋ยและศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีปฏิบัติของเกษตรกร รวมทั้งยังช่วยควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีกว่าอย่างเห็นผลชัดเจน แม้จะพบแมลงศัตรูพืชอยู่บ้างแต่ในปริมาณน้อยเนื่องจากบางส่วนแพร่กระจายมาจากวิธีเกษตรกร
ศูนย์วิจัยทั้ง 2 แห่งได้ขยายผลงานวิจัยดังกล่าวสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันมีแปลงต้นแบบการผลิตผักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่จังหวัดนครพนม 12 แปลง และจังหวัดกาฬสินธุ์ 4 แปลง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 115,935 บาท / ไร่ โดยแปลงต้นแบบดังกล่าวได้เป็นจุดสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ซึ่งมีเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและเกษตรกรเครือข่ายได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตพืชอินทรีย์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 33 แปลง พื้นที่ 336 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 572 ตัน จังหวัดนครพนม 18 แปลง พื้นที่ 67 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 101 ตัน นอกจากนี้เกษตรกรยังได้นำวิธีการจัดการศัตรูพืชตามเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่นอีกหลายชนิดทั้งในกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยจากสารพิษ และเกษตรกรทั่วไปด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว