จ. นครพนม ชี้โรคปากเท้าเปื่อยเหตุโคกระบือล้มตาย นอภ.สั่งการด่วนปศุสัตว์ เร่งป้องกันระดมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนพ่นฆ่าเชื้อ ประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังโรครัศมี 5 กม.

จ. นครพนม ชี้โรคปากเท้าเปื่อยเหตุโคกระบือล้มตาย นอภ.สั่งการด่วนปศุสัตว์

เร่งป้องกันระดมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนพ่นฆ่าเชื้อ ประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังโรครัศมี 5 กม.

 

วันที่ 27 ตุลาคม 2563 นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายประกิจ ศรีใสย์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ (หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์) นางสาวฐิติมา ศรีคำ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ด่านกักกันสัตว์นครพนม นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบวางมาตรการป้องกันการเกิดโรคระบาดในโคกระบือ ช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 18 -19 องศาเซลเซียส

หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาดในโคกระบือล้มป่วยตายนับ 10 ตัว ในพื้นที่บ้านชะโงม หมู่ 5 หมู่ 6 ต.ขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม เบื้องต้นนายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอเมืองนครพนม หลังรับรายงานจากผู้ใหญ่บ้าน สั่งการด่วนให้ตรวจสอบเก็บตัวอย่างทันที สาเหตุอาจมาจากโรคปากเท้าเปื่อยและไข้ขาดำ จึงต้องระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับโคกระบือ รวมถึงฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ยังได้ทำความเข้าใจ ให้ความรู้ คำแนะนำแก่เกษตรกร ในการดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคระบาด เนื่องจากยังมีความเสี่ยง ส่วนซากโคกระบือที่ป่วยล้มตาย เพื่อความปลอดภัยให้มีการนำไปฝังกลบทำลาย ห้ามนำมาชำแหละปรุงเป็นอาหาร

 

นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เสี่ยงต่อผลกระทบการเกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงการเกษตร โดยเฉพาะโคกระบือ ซึ่งในพื้นที่ ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ได้เกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้โคกระบือล้มป่วยตาย จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ วางแผนควบคุมป้องกันในพื้นที่เสี่ยง ทั้งฉัดวัคซีน พ่นยาฆ่าเชื้อ ตามจุดที่มีการเลี้ยงโคกระบือ พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรทุกอำเภอเฝ้าระวัง ติดตามดูอาการ โคกระบือ ใกล้ชิด หากพบมีอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที เชื่อว่าหลังวางมาตรการป้องกันจะสามารถควบคุมได้ ที่สำคัญยังได้มีการออกคำสั่งประกาศให้พื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาด ห้ามมีการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อเป็นการควบคุมป้องกัน สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ทางภาครัฐจะเข้าไปดูแลเยียวยาตามระเบียบทางราชการต่อไป

 

เทพพนม ประยงค์ อินอ่อน รายงาน