อำเภอฟากท่า ลุยแก้อุทกภัย ภัยแล้งยั่งยืน ผลักดันฝายแกนซอยซิเมนต์ทุกลำห้วย
เมื่อวันที่ 20 คุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. นางวิภารัตน์ นาคปิ่น ปลัดอาวุโส อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันในพื้นที่อำเภอฟากท่า โดยมีนายสมหมาย พุฒลา นายบุญส่ง ไคร้แค น.ส.แพรชมพู ประเสริฐศรี ในฐานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าร่วมประชุม โดยการประชุมมีความต่อเนื่องจากทางคณะอนุกรรมการฯน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคประชาชนกำหนดขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปาดเป็นพื้นที่นำร่อง และคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมี ผศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์เป็นประธาน ร่วมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์และศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ กรมชลประทาน ได้จัดประชุม แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตัวเองในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 12 กันยายนและ 16 ตุลาคม 2563 ตามลำดับ
สำหรับอำเภอฟากท่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมานายสุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอฟากท่า ได้จัดประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและผู้นำท้องถิ่นท้องที่โดยกำหนด 5 แนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งดังนี้ 1. การต่อยอดโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยทำงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีมติตั้งคณะทำงานฯลุ่มน้ำปาดเป็นพื้นที่นำร่องการแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อมูลสารสนเทศ 2. การกักเก็บชะลอน้ำด้วยการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ในลำห้วยต่างๆ 3.การสร้างแนวหรือบ่อเติมน้ำใต้ดิน 4. บ่อบาดาลน้ำตื้น และ 5 ชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์อย่างประหยัด ซึ่งหลังจากนั้นทางอำเภอฟากท่าได้ประชุมทำความเข้าใจแนวทางขั้นตอนการทำงานร่วมกันต่อผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอีกหนึ่งครั้ง
การประชุมวันที่ 20 ตุลาคม นี้ มีกำหนดขั้นตอนจัดทำ ธนาคารโครงการฯของท้องถิ่น หมายถึงการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆเพื่อเสนอขออนุญาตใช้พื้นที่และการของบประมาณ ของแต่ละท้องถิ่นโดยให้ทางอำเภอเป็นผู้รวบรวมนำเสนอไปตามขั้นตอน อนึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มโครงการดังนี้ กลุ่มที่ 1 เสนอเพิ่มเติมงบประมาณปี 65 กลุ่มที่ 2 เสนองบประมาณ ปี 66 และกลุ่มที่ 3 การก่อสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ตามลำห้วยต่างๆ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าเป็นการแก้ไขปัญหายั่งยืนคือ ลดความรุนแรงของปัญหาอุทกภัย เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำในลำห้วยธรรมชาติ เพิ่มความชุมชื้นในป่า ลดปัญหาไฟป่าและเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแต่ติดขัดปัญหาการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าต่างๆ
จึงกำหนดให้ใช้แนวทางจากที่ประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา คือ 1.ท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่รวบรวมข้อมูล พิกัดการก่อสร้าง จัดทำประชาคม การยินยอมให้ใช้พื้นที่ของราษฏร 2.ประสานงานจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อให้ทางชลประทานจังหวัดอุตรดิตถ์ร่วมสำรวจความเหมาะสมและเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบมาตรฐานตามสภาพพื้นที่จริง 3.รวบรวมข้อมูล เอกสาร เสนอหน่วยงาน จังหวัดและคณะกรรมาธิการฯ ให้เร่งประสานการขออนุญาตใช้พื้นที่ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว 4.ในเรื่องงบประมาณ อาจใช้งบปกติของท้องถิ่น งบจังหวัดและรวมรวบข้อมูล ความต้องการ สร้างความพร้อม ของพื้นที่ลุ่มน้ำปาดทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.บ้านโคก อ.ฟากท่า อ.น้ำปาด ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยิ่งยืน จากงบประมาณเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ สี่แสนล้านในรอบต่อไป โดยกำหนดรูปแบบโครงการไว้ 4 แนวทาง คือ 1.การสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ 2.การเติมน้ำ ลงใต้ดิน 3. บ่อบาดาลน้ำตื้น 4.การสูบน้ำด้วยโซล่าร์เชลล์อย่างประหยัด
นายสมหมาย พุฒลา คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ภาคประชาชน ซึ่งรับผิดชอบการขับเคลื่อนลุ่มน้าปาด ได้ยืนยันจะเร่งทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนใน 3 อำเภอให้มีประสิทธิภาพและเร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของราษฏรโดยรวม
เอนก ธรรมใจ
รายงาน