กรมประมง ระดมเรือออกช่วยเหลือประชาชนพื้นที่น้ำท่วม
พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย ด้านประมงเตรียมให้การช่วยเหลือเร่งด่วน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าจากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 และ ดีเปรสชั่นหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ในส่วนของภาคการประมง ได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอ ศูนย์/หน่วยป้องกันและปราบปรามฯ กองตรวจการประมง ในพื้นที่ประสบอุทกภัย นำรถและเรือตรวจประมง ออกให้การช่วยเหลือประชาชน เพื่อเร่งช่วยเหลือนำประชาชนผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่น้ำท่วมหนัก และนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่าย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนในเบื้องต้น
โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการนำเรือเข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ติดตามสถานการณ์และให้ประชาสัมพันธ์ติดตามข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานให้กรมประมงทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมง และให้เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าตามความสามารถและศักยภาพของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วน
สำหรับความเสียหายด้านประมงในขณะนี้ จากการสำรวจพบพื้นที่ความเสียหาย 13 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ตราด นครนายก กระบี่ ระนอง กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี และตรัง รวมกว่า 1,446.87 ไร่ 2,626.02 ตารางเมตร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,485 ราย คิดมูลค่าความเสียหายกว่า 10,227,832 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง หากได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้โดยให้หน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ เงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติได้ทันท่วงทีตามความจำเป็นและเหมาะสม ถ้าหากเงินงบประมาณไม่เพียงพอก็สามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
อธิบดีกรมประมงบอกด้วยว่าเนื่องจากช่วงนี้ ยังมีพายุฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และขอให้เกษตรกรเตรียมการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าเมื่อเกิดอุทกภัย ทั้งในเรื่องการควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะ ป้องกันการเกิดโรคสัตว์น้ำ ซึ่งอาจมีทั้งโรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เหาปลา ฯลฯ และโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอกคัส แอโรโมแนส ฟลาโวแบคทีเรียม ฯลฯ เกษตรกรควรเฝ้าระวังการเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ ทำความสะอาดกระชังเพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหารออกให้หมด ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค รวมทั้งควรควบคุมคุณภาพน้ำ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ให้เหมาะสมและคงที่อยู่เสมอ ในส่วนของสถานที่เลี้ยงต้องจัดทำร่องระบายน้ำ และขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก ปรับปรุงคันบ่อและเสริมคันบ่อให้สูงพอกับปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีไว้ให้พร้อม และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงได้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์ฯ ประมงทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ท่านตามนโยบายของกรมประมง