กรมประมงออกมาตรฐานการทำประมงและแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
การันตีสินค้าประมงพื้นบ้านไทยสด สะอาด ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง 1 ตุลาคมนี้ กรมประมง ออกประกาศใช้มาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563 ซึ่งมาตรฐานนี้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจับสัตว์น้ำ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการแปรรูป เพื่อยกระดับวิถีและสินค้าประมงพื้นบ้านของไทยมีมาตรฐานอาหารปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคมก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง
สำหรับชาวประมงพื้นบ้านที่ประสงค์จะยื่นขอใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563 ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. การขอใบรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านยั่งยืน จะต้องเป็นสมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำการประมง (ทบ.3) และเป็นเรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
2. การขอใบรับรองมาตรฐานการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน จะต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านแปรรูปหรือเป็นสมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นหรือได้รับการจดทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2)
ทั้งนี้ใบรับรองดังกล่าว มีอายุ 2 ปี นับแต่วันออกใบรับรอง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบรับรองฯ ไปแล้ว จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของระเบียบ และรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดอายุใบรับรอง ซึ่งกรมประมงจะมีการตรวจประเมินปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรฐานที่กำหนด หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำใบรับรองดังกล่าวไปแอบอ้าง หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่สุจริต จะถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอใบรับรอง โดยผู้ที่จะยื่นความประสงค์ขอใบรับรองฯ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลในเขตพื้นที่ในเขตพื้นที่ ซึ่งก่อนที่จะออกระเบียบว่าด้วยการขอและการออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563
กรมประมง ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบเอกสารแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีเสียงตอบรับจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในเชิงบวก เนื่องจากระเบียบดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน หรือ มาตรฐานบลูแบรนด์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวประมงพื้นบ้านพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าของพวกเขามาจากการทำประมงแบบยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง และผู้บริโภคไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมี ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า แนวทางของหน่วยงานภาครัฐ กับแนวคิดของพี่น้องชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวนกว่า 629 ชุมชน มีความสอดประสานกันเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าในอนาคตมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากการทำประมงพื้นบ้านของไทย จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการรับรองดังกล่าว กรมประมงยังมีการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบประเมิน (Audid) ในการตรวจประเมินตามมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2563 เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรข้อกำหนดและการตรวจประเมินตามมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีการบรรยายเกี่ยวกับมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน และวิธีการตรวจประเมินตามมาตรฐาน ISO/IEC19011 แล้วยังได้มีการฝึกปฏิบัตินอกสถานที่ในส่วนของการตรวจประเมินมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้าน ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในการลงพื้นที่ไปฝึกปฏิบัติเป็นอย่างดี ที่สำคัญยังทำให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านเข้าใจหลักการทำประมงพื้นบ้าน การขึ้นทะเบียนเรือประมง ลักษณะของเรือประมงที่มีสุขอนามัยที่ดี เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย
รวมถึงชนิดและขนาดสัตว์น้ำที่เหมาะสมในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าประมงพื้นบ้าน จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องชาวประมงได้ ซึ่งท่านอธิบดีกรมประมง (นายมีศักดิ์ ภักดีคง) ได้เน้นย้ำเสมอว่า ในทุกภารกิจของกรมประมง จะต้องมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวประมงเสมอ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของภาครัฐ กรมประมงจึงมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสามารถให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในการที่จะเข้าสู่วิถีการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนอย่างครบวงจร และกรมประมงสามารถดำเนินการให้การรับรองมาตรฐานฯ ให้แก่ ผู้ทำการประมง หรือ ผู้ประกอบการด้านการประมงได้และพัฒนาไปสู่ตลาดการค้าสากลก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างแน่นอน
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น โทร. 02- 597 9710 ในวันและเวลาราชการ