กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกร เฝ้าระวังโรคใบจุดในพืชตระกูลกะหล่ำ
ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ อาทิ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า ผักกาดขาว และบรอกโคลี ให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคใบจุด ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ระยะต้นกล้า จะพบแผลเล็กสีน้ำตาลเข้มที่ลำต้น โดยพืชจะแสดง อาการคล้ายโรคเน่าคอดิน ทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต ระยะต้นโตถึงระยะเก็บผลผลิต มักพบบนใบและก้านใบเกิดแผลจุดเล็กสีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
กรณีที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง หากเกิดโรคหลังจากกะหล่ำปลีห่อหัวแล้ว จะเกิดอาการเน่าอย่างรุนแรงทั้งหัว ส่วนในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี ถ้าเกิดอาการที่ดอก จะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลที่เริ่มจากช่อดอกที่อยู่ริมนอก ลามเข้ามาด้านใน หากรุนแรงดอกทั้งดอกจะถูกทำลายทั้งหมด ซึ่งโรคใบจุดนี้สามารถติดไปกับเมล็ดได้ ทำให้เมล็ดสูญเสียความงอกหรืออาจแฝงตัวในเมล็ดพันธุ์ ส่งผลทำให้เกิดการระบาดของโรคเมื่อนำไปปลูกในฤดูถัดไป
เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส (การเตรียมน้ำอุ่นโดยต้มน้ำจนเดือดแล้วเติมน้ำอุณหภูมิปกติลงไปอีก 1 เท่า) นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 5-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดยควรปลูกพืชให้มีระยะห่างกันพอสมควร ให้มีแสงแดดส่องผ่านได้ ไม่เบียดแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท และโรคระบาดได้รวดเร็ว
หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อราสาเหตุโรค หลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำ ในพื้นที่แปลงเดิม อย่างน้อย 3 – 4 ปี หากพบโรคเริ่มระบาดในระยะกล้า ให้เกษตรกรถอนต้นกล้านำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที ถ้าเริ่มพบโรคในระยะต้นโต เกษตรกรควรตัดใบที่เป็นโรคออกนำไปทำลายทิ้ง จากนั้นให้พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน