ผวจ.ประจวบฯชง มท. เสนอฟันวินัยร้ายแรง
ไล่ออกหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าการเงินปล่อยลูกจ้างสาวโกงงบหลวง 40 ล้าน
จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง ต่อมาพนักงานอัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงครามมีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง พ้นการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากครบกำหนดฝากขังครั้งละ 12 วัน จำนวน 7 ผัด รวม 84 วัน
วันที่ 29 กันยายน ผู้สื่อข่าวได้เข้าพบแหล่งข่าวระดับสูง ในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อสอบถามความคืบหน้า โดยเปิดเผยว่า หลังจากมีปัญหากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้นำข้อบกพร่องในระบบไปปรับปรุง และจากการสอบสวนพบว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่อง ระหว่างผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน หัวหน้างานการเงินและ น.ส.ขนิษฐา ซึ่งมีความชำนาญเกี่ยวกับระบบบัญชีและการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้รับความไว้ใจจากผู้บังคับบัญชามอบคีย์การ์ด 2 ใบให้เก็บไว้ทำการเบิกจ่ายเงิน
“ ปกติคีย์การ์ด 2 ใบ จะมอบให้นางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชี เก็บไว้พร้อมกับรหัสผ่าน 1 ใบ นางกัลยารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเก็บไว้1 ใบพร้อม 2 รหัสผ่าน เพื่อทำการอนุมัติกับเบิกจ่ายเงินงบประมาณของจังหวัด แต่ด้วยความไว้ใจจึงมอบคีย์การ์ด และรหัสผ่านให้ น.ส.ขนิษฐา ดำเนินการเพียงคนเดียว และเชื่อว่าเงินที่ทุจริตยังมีเหลือนอกระบบอีกจำนวนมาก ส่วนเงินที่ได้คืนมีเพียง 6 ล้านบาท”
แหล่งข่าวระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชา จากนั้นได้ส่งรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและ ส่งให้กระทรวงมหาดไทย อาจะแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดหรือให้จังหวัดเข้าร่วม เพื่อสอบวินัยร้ายแรง และ สอบทางละเมิด เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการ โดยเกี่ยวข้องกับนางประชิต และนางกัลยารัตน์ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเบิกจ่ายรวมทั้งหมด 5 คน โดยระดับหัวหน้างานการเงิน และหัวหน้าสำนักงาน หลังการสอบสวนอาจจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยข้าราชการร้ายแรง คือให้ออกหรือไล่ออกจากราชการตามข้อสรุปในการสอบข้อเท็จจริง
“ส่วนบุคคลอื่น ก็ต้องรับโทษทางวินัยไมร้ายแรงตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ และ การทุจริตครั้งนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (สตง.)ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบการทุจริตในจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น ขณะที่ระหว่างการสอบสวน น.ส.ขนิษฐายอมรับว่าภูมิใจมากที่ทุจริตงบจำนวนมากและไม่ได้มีท่าทีสะทกสะท้าน “
คณะกรรมการฯ กล่าวอีกว่า หากผลสอบทางละเมิดพบว่ามีความบกพร่อง กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดใช้ความเสียหายตามสัดส่วนที่กำหนด อาจจะใช้วิธีการหักจากเงินเดือน จากเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อคืนให้ทางราชการครบทั้งหมด ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดได้พยายามหาเงินเหลือจ่ายจากโครงการอื่นชดใช้คืนในระบบ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถคืนงบประมาณค่าค้ำประกันสัญญางานประมาณ 12 ล้านบาทที่มีการทุจริตคืนให้ผู้รับเหมา สำหรับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความร่วมมือในการสอบสวน แต่ปัญหาจากการเบิกจ่ายจาการลงลายมือชื่อปลอมในเช็ค ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้คดีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการวิ่งเต้นล้มคดีจากบางฝ่ายหรือไม่ เพราะการทำสำนวนส่งฟ้อง มีการนำข้อมูลจากเอกสารที่มีการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดแทบทั้งหมด และน่าแปลกใจพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกับการแจ้งความคดีอาญากับนางประชิต
นอกจากนั้นได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการคดีทุจริตภาค 7 เพื่อสรุปส่งฟ้องในระยะเวลากระชั้นชิดอาจมีเจตนาตัดตอน ก่อนครบกำหนดการฝากขัง น.ส.ขนิษฐา ไม่กี่วัน ทำให้พนักงานอัยการฯไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องได้ทันตามกำหนด และสั่งให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ น.ส.ขนิษฐาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์