รมว. คมนาคม เดินหน้าพัฒนาการคมนาคมขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี
วันที่ 23 กันยายนที่ห้องโรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ และการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ MOT 2020 Move on together คมนาคมเคียงข้างชาวใต้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด 19 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ประจวบฯ และเพชรบุรี เข้าร่วมจำนวนมาก
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของกระทรวงคมนาคมผ่านสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย นำเสนอข้อมูลโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และการส่งเสริมความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย
นอกจากนี้ มีการเสวนาสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนในหัวข้อ คมนาคมเคียงข้างชาวใต้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด 19 นำโดยนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นำเสนอมุมมองในฐานะภาครัฐที่ช่วยผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน กระจายรายได้ควบคู่ไปกับการปรับบริการระบบขนส่งสาธารณะสู่ New Normal เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวอนามัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต น.ส.ชมพู มฤศโชติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี นำเสนอมุมมองของธุรกิจท่องเที่ยว ที่ต้องปรับตัวรับเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่รวมถึงข้อเสนอแนะหรือความต้องการของภาคการท่องเที่ยวนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน บอกเล่าถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งดร.พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ตลอดจนความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงครอบคลุมทุกโครงข่ายอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งร่วมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เร่งหามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ยึดหลักการบริหารงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ผสมผสานเพิ่มเติมนโยบายที่เน้นสนองตอบความต้องการของประชาชนภายใต้สถานการณ์สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ได้เร่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความเจริญสู่ภาคใต้เพื่อให้สามารถสัญจรได้สะดวก ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายถนนพระราม 2 ก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรโดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สามแยกวังมะนาว อําเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เส้นทางนี้จะช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรและเพิ่มความรวดเร็วและคล่องตัวในการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ พร้อมทั้งเร่งรัดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงนครปฐม-ชะอำ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย เชื่อมภาคกลางสู่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และในอนาคตยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในรูปแบบใหม่ พี่จะเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีความปลอดภัยสูงขึ้นและลดภาระในการลงทุนของภาครัฐในระยะยาว
ส่วนนโยบายด้านระบบคมนาคมทางน้ำ ได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่และท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความเจริญให้กับประเทศ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน
ส่วนการขนส่งระบบรางเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภาคใต้ ได้มีการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่จำนวน 5 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รวมทั้งผลักดันเส้นทางรถไฟสายใหม่ 3 สาย ได้แก่ ชุมพร-ระนอง ช่วงสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น และช่วงสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก
ขณะที่การคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยานรองรับการท่องเที่ยวภาคใต้ ได้แก่ การปรับปรุงท่าอากาศยานหัวหิน ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการภายในปีนี้คือท่าอากาศยานเบตง
นอกจากการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมแล้ว กระทรวงยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง โดยคิดค้นกันชนยางพาราครอบแบริเออร์คอนกรีต และเสาหลักนำทางจากยางพารา ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง ตลอดจนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการรับซื้อน้ำยางพาราโดยตรงจากเกษตรกรไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีแผนดำเนินโครงการดังกล่าวระหว่างปี 2563-2565 วงเงิน 85,623 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282 กิโลเมตร 83,421 ล้านบาท และหลักนำทางยางพารา 1.063 ล้านตัน 2,202 ล้านบาท คาดว่าจำนวนเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 3 ปี รวม 30,108 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำยางที่ใช้ 1 ล้านตัน หรือเฉลี่ยปีละ 3 แสนตัน
พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์