ทต.วัฒนานคร สระแก้ว เชิญ 24 อปท.ดูพื้นที่จริง ศูนย์กำจัดขยะชุมชนแบบครบวงจร พร้อมรับโรงไฟฟ้าจากขยะ ลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท
คณะกลุ่มผู้บริหารจากเทศบาลตำบลวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และทีมผู้บริหารจากบริษัท ท่าฉาง เอนเนอร์ยี โซลูชัน จำกัด ได้พาตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.ทั้งหมด 24 แห่งซึ่งอยู่ในกลุ่มบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน คลัชเตอร์กลุ่มที่ 1 จากทั้งหมด 5 กลุ่มทั้งจังหวัด ลงพื้นที่จริงในพื้นที่หมู่ 7 บ้านจิก ตำบลวัฒนานคร เพื่อศึกษาข้อมูลทั้งกระบวนการ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย ของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยจะต้องผ่านกระบวนการแปรรูปขยะเป็นแท่ง RDF เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หลังจาก อปท.ทั้ง 24 แห่งนี้ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับเทศบาลตำบลวัฒนานคร จะต้องนำขยะชุมชนมากำจัดยังศูนย์ขยะแห่งนี้ ตาม พรบ.รักษาความสะอาดแห่งชาติปี 2560 ที่กำหนดให้ทุก อปท.ทั่วประเทศ จะต้องมีระบบรองรับขยะถูกสุขลักษณะภายในปี 2563 นี้
นายวิชัย เอี่ยมอ่ำ ผู้บริหารบริษัทท่าฉาง เอนเนอร์ยี โซลูชัน จำกัด ยอมรับว่า กลุ่มทุนท่าฉางกรุ๊ป ทุ่มเงินเกือบ 1 พัน 3 ร้อยล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะจากชุมชนแบบครบวงจร โดยใช้พื้นที่นอกเขตเทศบาลตำบลวัฒนานครประมาณ 300 ไร่ และจากบันทึกข้อตกลงร่วมกันของ อปท.ในกลุ่มที่ 1 รวมทั้งหมด 40 แห่ง ปรากฏว่ามี อปท.อยู่ 24 แห่งที่ยังไม่นำขยะมาทิ้งยังศูนย์กำจัดขยะที่บ้านจิกแห่งนี้ จึงทำให้ขณะนี้ ศูนย์กำจัดขยะฯมีสต๊อกขยะค่อนข้างน้อยอยู่พอสมควร เนื่องจากภายในอีกประมาณ 18 เดือนข้างหน้า นอกจากบ่อพักขยะทั้ง 2 แห่งที่รองรับขยะจาก อปท.ต่างๆแล้ว บริษัทฯจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวอาคารที่จะใช้เป็นศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร หลังได้รับการอนุมัติจากหลายฝ่ายและผ่านกระบวนการพูดคุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
นายวิชัยฯ ยังบอกอีกว่า ทางบริษัทต้องการให้คนในสระแก้วได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากศูนย์กำจัดขยะครบวงจรแห่งนี้ โดยจะให้โควต้าการทิ้งขยะจาก อปท.ในพื้นที่ก่อน จากนั้น อปท.ในกลุ่มอื่นๆของจังหวัดสระแก้ว ถ้าต้องการนำขยะมาทิ้งยังสถานที่แห่งนี้ ทางบริษัทฯยินดีที่จะให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะอีกไม่นานนี้ พรบ.รักษความสะอาดแห่งชาติปี 2560 จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ อปท.ที่ไม่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนถูกสุขลักษณะ ขณะเดียวกัน ถ้ามองในเรื่องเชิงธุรกิจ หากปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของศูนย์กำจัดขยะ ซึ่งในอีก 18 เดือนข้างหน้า จะสามารถเดินเครื่องได้เต็มรูปแบบ สามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละเกือบ 500 ตัน ทางบริษัทฯ คงจะต้องมองหาขยะจากนอกพื้นที่
ขณะที่ตัวแทนจาก อปท.หลายแห่งที่ลงพื้นที่จริงศึกษากระบวนการศูนย์กำจัดขยะชุมชนแบบครบวงจร ยอมรับว่า ทุกวันนี้ ในแต่ละท้องที่ยังคงมีการนำขยะไปเทกองไว้ตามบ่อขยะที่ยังคงไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนใหญ่ยอมรับมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ / ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 สระบุรี จัดทำฐานข้อมูลการบริหารจัดการขยะในจังหวัดสระแก้ว พบว่า ยังคงมี อปท.หลายแห่ง ยังไม่มีสถานที่กำจัดขยะจากชุมชนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงไม่มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดิน
ด้านนายแสงประทีป เทียนทอง นายกเทศบาลตำบลวัฒนานคร ในฐานะเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการขยะในคลัชเตอร์ กลุ่มที่ 1 มี อปท.มีบันทึกข้อตกลงรวมทั้งหมด 40 แห่ง เปิดเผยว่า โครงการนี้ เป็นโครงการต่อยอดที่หลังจากสามารถกำจัดขยะจากชุมชนต่างๆโดยไม่เกิดมลพิษใดๆแล้ว ยังได้นำขยะเหล่านี้ ผ่านกระบวนการแปรรูปไปเป็นพลังงานไฟฟ้าๆได้อีกด้วย / จากการไปศึกษาดูงานศูนย์กำจัดขยะในลักษณะแบบนี้ ทั้งที่ แพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ / เขตหนองแขม หรือแม้แต่ที่จังหวัดภูเก็ต โครงการเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ในเขตชุมชนทั้งสิ้น และยังไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ประกอบกับระบบกำจัดขยะภายในศูนย์กำจัดขยะของจังหวัดสระแก้วที่กำลังจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เป็นระบบในเจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง
จากรายงานผลสำรวจของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 สระบุรี ระบุว่า จังหวัดสระแก้วมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด 14 แห่ง แบ่งเป็นระบบฝังกลบเชิงวิศวกรรม 1 แห่ง / ระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล 1 แห่ง / ระบบเผาในเตาเผา 1 แห่ง / และระบบเทกองอีก 11 แห่ง จึงทำให้มีขยะตกค้างทั้งจังหวัดมากถึง 158,059 ตัน อยู่ในขณะนี้
รายงานข่าวจากไตรรัตน์ มีวงษ์ จ.สระแก้ว