ฉลามวาฬขึ้นอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวเห็นอย่างใกล้ชิดที่เกาะทะลุ ช่วงวันหยุดยาว
วันที่ 4 ก.ย. 63 จากกรณีผู้โพสต์เฟตบุ๊ค ชื่อ เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ มีการถ่ายภาพปลาฉลามวาฬตัวขนาดใหญ่ มาว่ายอยู่ใกล้ๆ กับเรือที่นำนักท่องเที่ยวไปจอดดำน้ำดูปะการังใกล้เกาะทะลุรีสอร์ท อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วงวันหยุดยาววันแรก ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นและยลโฉมอย่างใกล้ชิดพร้อมถ่ายภาพคู่ที่หาดูได้ยากมาก
“ มีวาฬตัวนึงลอยว่ายน้ำมา.. ดูแฮปปี้ดี้ด้ากว่าที่เคย.. น้องจุดมาเยี่ยมเกาะทะลุ ในวันที่อากาศดีน้ำใสมากกกก แต่ไม่มีกล้องใต้น้ำ เสียดายจริง หลังจากหาเจอแค่สน๊อคเกิลเด็กก็ไม่รอ ลงไปดำดูใกล้ๆ เห็นมีรอยถลอกที่ครีบซ้าย,ขวา และก่อนถึงปลายหางมีจุดสีเทาเหมือนเป็นปาน เจ้าฉลามวาฬตัวนี้ขนาดประมาณ 7-8 เมตร คือกะประมาณเอา ความยาวน่าจะเกิน 3 วา ดูค่อนข้างเป็นมิตร ไม่กลัวคนเลย จังหวะที่เราว่ายน้ำมาประจันหน้ากันพอดี ผมลองว่ายน้ำกรรเชียงถอยหลัง เค้าก็ว่ายตามช้าๆ หันหัวตรงมาทางผมเลย ทันทีที่เห็นเราเบี่ยงหลบออกทางขวา เค้าก็เบี่ยงตัวหลบทางซ้าย พร้อมกับกรอกตามองเรา อย่างสงสัย
ในอดีตไม่ค่อยมีรายงานพบฉลามวาฬในพื้นที่แถบจังหวัดประจวบฯเท่าไหร่ อาจจะด้วยความหนาแน่นของการทำประมง หรือเครื่องมือสื่อสารไม่พร้อมเหมือนในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปเกี่ยวกับฉลามวาฬและสัตว์ทะเลหายากอื่นๆก็คือกระแสการท่องเที่ยว ดำน้ำ และการอนุรักษ์ทะเล สังเกตจากกลุ่มคนที่เข้ามาคอมเม้นต์ในโซเชี่ยล ส่วนใหญ่เป็นนักดำน้ำหรือคนที่ชอบเที่ยวทะเลบ่ายๆ จะมีความรู้เรื่องฉลามวาฬ ว่าเป็นสัตว์ทะเลไม่ดุร้าย หลายๆคนเรียกติดปากว่า “น้องจุด” หรือ “ยักใหญ่ใจดี” สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันต่อฉลามวาฬ
นายเผ่าพิพัธ กล่าวว่า ภาพฉลามวาฬที่น่ารัก ดูเป็นมิตร ว่ายน้ำวนรอบเรือของนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างกระแส และการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบทางธรรมชาติต่อท้องทะเล ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องการเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ แต่สำหรับบางคนถึงกับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายๆอย่างเลยทีเดียว การลดการบริโภค ลดขยะ การลดการใช้ทรัพยากรฯทุกรูปแบบในชีวิตประจำวันคนละเล็กละน้อย อาจช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกได้จริงๆ
ผมยังเชื่อว่าการอนุรักษ์ต้องเกิดจากการรู้จักก่อน ความรักความเมตตาต่อสัตว์โลกจึงค่อยๆเกิดขึ้น ความรู้สึกเชื่อมโยงและหวงแหนทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ ไม่แพ้การบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการณ์ควบคุมต่างๆ
ขอบคุณภาพจากคุณเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์
ข่าว ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์