สร้างจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตร 70 ชั่วโมง รองรับสังคมผู้สูงวัยในพื้นที่

สร้างจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตร 70 ชั่วโมง รองรับสังคมผู้สูงวัยในพื้นที่

วันที่ 2 กันยายน 2563 ที่จังหวัดนครพนม  ดร.บุญรอด ดอนประเพ็ง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม  เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 คือมีประชากรร้อยละ 20 ของทั้งประเทศที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และในปี 2574 จะเข้าก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด นั้นหมายถึงรัฐบาล ชุมชน และครอบครัวมีภาระในการที่ต้องดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจากความเสื่อมของร่างกาย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการยังชีพและการดูแลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่น่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเอื้อเพื่อเผื่อแผ่ให้แก่กันและกันของคนนครพนม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม จึงได้ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี โรงพยาบาลนครพนม และมูลนิธิศรีโคตรบูร จัดการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) หลักสูตร 70 ชั่วโมงขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับจิตอาสาบุคคลทั่วไป ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า ที่มีความสนใจให้มีความรู้ความสามารถและนำทักษะที่ได้รับทั้งหมดกลับไปช่วยกันดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองต่อไปฉ

โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมจำนวน 73 คน ในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ในภาคทฤษฎีเกี่ยวกับความจำเป็นของการดูแลผู้สูงอายุ แนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุ สิทธิผู้สูงอายุตามกฎหมาย บทบาทและจริยธรรมของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุ โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะวิกฤตกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้น การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพึ่งพิงที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่มีแผลเรื้อรัง แผลกดทับและแผลชนิดต่าง ๆ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเจาะคอใส่สายสวนให้อาหารทางสายยาง การใช้ยาในผู้สูงอายุ การใช้ออกซิเจนและการพ่นยา การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้านอาหารและโภชนาการ การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพึ่งพิง ตลอดจนการดูแลสุขภาพจิตวิธีผ่อนคลายความเครียดของผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับผู้ดูแลผู้สูงอายุ และการจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ จากนั้นจะมีการแบ่งกลุ่มแยกย้ายกันลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติ พร้อมกับทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ตามโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล บ้านพักผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยเรื้อรังในพื้นที่ที่ผู้อบรมอาศัยอยู่

ขอขอบคุณภาพข่าวจาก เทพพนม