เกษตรฯ ขับเคลื่อนงานหม่อนไหมแปลงใหญ่ 2563 เน้นโยบายตลาดนำการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้ยั่งยืน
นายสันติ กลึงกลางดอน รองอธิบดีกรมกหม่อนไหม เปิดเผยว่าตามที่กรมหม่อนไหมได้รับนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตรให้มีความสมบูรณ์และครบวงจร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันผลิต ในรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมากรมหม่อนไหมได้ขับเคลื่อนภารกิจนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมระบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม และมีการบริหารจัดการด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
โดยในปี 2563 ได้ดำเนินการในพื้นที่ 34 แปลง 18 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกหม่อนมากกว่า 12,000 ไร่ เกษตรกรรวม 2,994 ครัวเรือน ได้แก่
- การผลิตไหมอุตสาหกรรม จำนวน 16 แปลง ในจังหวัดน่าน กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร (2 แปลง) ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ (3 แปลง) นครราชสีมา สุรินทร์ และอุทัยธานี
- การผลิตไหมหัตถกรรม จำนวน 17 แปลง ในจังหวัดเชียงราย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ (5 แปลง) บุรีรัมย์ (3 แปลง) นครราชสีมา (2 แปลง) ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ (2 แปลง) และ
- การผลิตหม่อนผลสด จำนวน 1 แปลง ในจังหวัดน่าน (แปลงใหญ่ประชารัฐ) เพื่อพัฒนา เน้นให้เกิดการรวมแปลง/ รวมกลุ่มเกษตรกร จัดทำฐานข้อมูล และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้จัดการแปลงใหญ่
แบบอย่างการเกษตรแปลงใหญ่ด้านหม่อนไหมที่ประสบความสำเร็จ และแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่สนองตอบการขับเคลื่อนในทุกนโยบาย ทั้งนโยบาย “การรวมกลุ่มการทำเกษตรแปลงใหญ่” และนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” คือ แปลงใหญ่หม่อนไหม การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ภายใต้แปลงใหญ่ (ไหมอุตสาหกรรม) ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน มีพื้นที่ปลูกหม่อน 707 ไร่ จำนวนสมาชิก 95 ราย ผลิตสินค้าไหมรังเหลืองตามมาตรฐาน GAP (มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 8201-2555)
โดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จังหวัดน่าน ได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ น่าน ได้ขับเคลื่อนดำเนินการส่งเสริมการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่จังหวัดน่าน เชียงราย และพะเยา เพื่อพัฒนาเกษตรกรไปสู่การเป็น Smart Farmer ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยร่วมกับบริษัทเอกชนให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายรังไหมให้แก่บริษัทมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องตลาดรับซื้อรังไหม และมีการทำสัญญาซื้อขายรังไหมล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับบริษัท (Contract farming) ปีต่อปี
สำหรับในปี 2563 ได้มีการทำสัญญาซื้อขายรังไหมล่วงหน้ากับบริษัท จุลไหมไทย จำกัด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563ในการทำสัญญาซื้อขายรังไหมดังกล่าว กำหนดปริมาณผลผลิตที่ต้องส่งมอบตามสัญญาซื้อขายรังไหม 55,000 กิโลกรัม (55 ตัน) จำนวน 8-10 รุ่น โดยใช้ไข่ไหมพันธุ์เหลืองสระบุรี ซึ่งเป็นไข่ไหมพันธุ์ไทยลูกผสม (ผลิตโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรมหม่อนไหม) บรรจุปริมาณไข่ไหม 22,000 ฟอง/แผ่น คาดคะเนผลผลิตรังไหมสด 30 กิโลกรัม/แผ่น ทั้งนี้ ได้มีการรับซื้อรังไหมแล้ว 3 รุ่น มีผลผลิตรังไหมรวม 15,540.47 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้รวมกว่า 2.5 ล้านบาท เฉลี่ย 59.38 กิโลกรัม/ราย มีเปอร์เซนต์รังเสีย 8.05 ราคาสูงสุด 199.72 บาท/กิโลกรัม ราคาต่ำสุด 114.17 บาท/กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 156.88 บาท/กิโลกรัม
ส่วนชนิดรังไหม (รังเสีย) ที่ขายได้นั้น ประกอบด้วย รังแฝด 100 บาท/กิโลกรัม รังเสีย 90 บาท/กิโลกรัม รังบางและเน่า 20 บาท/กิโลกรัม และรังดีหลังจ่อ 120 บาท/กิโลกรัม มีราคาปุยไหม 5 บาท/กิโลกรัม เฉลี่ยการกินใบหม่อน/แผ่น 400-450 กิโลกรัม/แผ่น ผลผลิตหม่อน/ไร่ 2,500-3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี เลี้ยงไหมได้ปีละ 8-10 รุ่น ตามการแบ่งแปลงหม่อนและการจัดการแปลงหม่อน
การดำเนินงานของกรมหม่อนไหมในการแปลงนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันผลิต ในรูปแบบแปลงใหญ่ ไปสู่การปฏิบัตินั้น นอกจากการดำเนินงานสนองตอบตามนโยบายกรมหม่อนไหมยังขับเคลื่อนในนโยบายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ นโยบายตลาดนำการผลิต นโยบายเกษตรพันธสัญญา นโยบายลดการบุกรุกพื้นที่ป่าจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดที่กรมหม่อนไหมได้ทุ่มเทดำเนินการตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังประโยชน์ให้เกิดกับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า ผู้ผลิต และประชาชนให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองและประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน