ทต.วัฒนานคร สระแก้ว ร่วมเอกชน เปิดโครงการโรงงานเก็บขยะ พร้อมก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ทุ่มเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เร่งกำจัดขยะชุมชนทั้งจังหวัดสระแก้ว ที่ยังตกค้างมากกว่า 1 แสน 5 หมื่นตัน

ทต.วัฒนานคร สระแก้ว ร่วมเอกชน เปิดโครงการโรงงานเก็บขยะ พร้อมก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ

ทุ่มเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เร่งกำจัดขยะชุมชนทั้งจังหวัดสระแก้ว ที่ยังตกค้างมากกว่า 1 แสน 5 หมื่นตัน

 

“คนสระแก้วเฮ” อีกไม่นานเกินเอื้อม จะมีผู้ประกอบการภาคเอกชนรับซื้อขยะต่างๆในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ขยะจำนวนมหาศาลในพื้นที่จังหวัดสระแก้วหายไป เนื่องจากที่ผ่านมาขยะดังกล่าวสร้างปัญหาหนักอกหนักใจให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องคอยบริหารจัดการอย่างไม่รู้จบ

โดยกลุ่มทุนบริษัทเอกชน ท่าฉาง กรุ๊ป ทุ่มเงินเกือบ 600 ล้านบาท ขอใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์นอกเขตเทศบาลตำบลวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มากกว่า 290 ไร่ จัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ซึ่งเป็นโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยที่ผ่านกระบวนการแปรรูปขยะเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า / พร้อมตั้งเป้าต้องกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนทั้งจังหวัดสระแก้ว ที่ยังมีขยะตกค้างมากกว่า 1 แสน 5 หมื่น 8 พันตัน
สืบเนื่องจากจังหวัดสระแก้วได้นำเอานโยบายเรื่องการกำจัดขยะเป็นวันแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม ประกอบกับเมื่อปี 2555 บริเวณชายแดนของจังหวัดสระแก้วซึ่งอยู่ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชามีระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร มีขยะค่อนข้างจะมาก การทิ้งขยะทั้งหมดยังไม่ถูกสุขลักษณะ ทางจังหวัดสระแก้วในสมัยนั้นจึงพยายามจะตั้งโรงงานเก็บขยะที่ถูกสุขลักษณะที่บริเวณเทศบาลตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ แต่ก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ จึงได้ระงับโครงการดังกล่าวไป

 

กลุ่มผู้บริหารและวิศวกรจาก บริษัทท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด หนึ่งในเครือกลุ่มบริษัทท่าฉาง กรุ๊ป ได้พาทีมผู้สื่อข่าวดูพื้นที่มากกว่า 290 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านจิก ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล ที่นำปัญหาในเรื่องขยะมูลฝอยชุมชน “บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ” พร้อมทั้งมีนโยบายเร่งด่วน ที่จะเร่งส่งเสริม การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

นายเจริญ เรืองฤทธิ์ ผู้จัดการโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนครบวงจร ผู้แทนบริษัทท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น กรุ๊ป เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการนำขยะมูลฝอยจากชุมชนต่างๆในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลวัฒนานคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริหารจัดการขยะ กลุ่มที่ 1 ของจังหวัดสระแก้วจากทั้งหมด 5 กลุ่ม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั้งหมด 5 อำเภอ คืออำเภอวัฒนานคร / อำเภออรัญประเทศ / อำเภอโคกสูง / อำเภอตาพระยา และอำเภอเขาฉกรรจ์บางส่วน รวมทั้งหมด 40 แห่ง ต้องนำขยะทั้งหมดมาทิ้งยังศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ โดยสามารถรองรับขยะได้มากถึง 1 แสน 8 หมื่นตัน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เทศบาลตำบลวัฒนานคร และบริษัทท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างบ่อพักขยะจำนวน 2 แห่งตามหลักสุขาภิบาล โดยบ่อที่ 1 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สามารถรองรับขยะได้ถึง 6 หมื่นตัน / ส่วนบ่อที่สอง สามารถรองรับขยะได้มากถึง 1 แสน 2 หมื่นตัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทางบริษัทได้เปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 40 แห่งนำขยะมาทิ้ง โดยคิดค่าบริการทิ้งขยะตันละ 550 บาท แต่ขั้นตอนการดำเนินการของบริษัทในขณะนี้ ยังอยู่ในกระบวนการเก็บสต๊อกขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น และกำลังเร่งขอใบอนุญาตเพิ่มเติมในการเตรียมก่อสร้างอาคารกำจัดขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ คาดว่า จะเริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ ภายในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า

นายวีระพจน์ มะโรหบุตร ปลัดเทศบาลตำบลวัฒนานคร ยอมรับว่า ระบบกำจัดขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนประชาชนแบบนี้ เป็นระบบที่ยั่งยืนต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ในอนาคตภายหน้า คนสระแก้วจะมีระบบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบ เนื่องจากศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ เป็นรูปแบบกำจัดขยะที่นำไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานหมุนเวียนณ ขณะนี้ทางบริษัทแค่มีระบบเก็บกำจัดขยะซึ่งกำลังรอใบอนุญาต PPA จากภาครัฐ ส่วนกระแสฟ้าที่ผลิตได้นั้นก็จะส่งขายให้กับการไฟฟ้าภูมิภาคตามสัญญา PPAที่การไฟฟ้าภูมิภาคเป็นคู่สัญญากับบริษัท ส่วนเรื่องแรงงานในโรงงานดังกล่าวจะใช้คนในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่

สำหรับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ยอมรับว่า หลังจากมีศูนย์กำจัดขยะเต็มรูปแบบและได้มาตรฐานแบบนี้ ทำให้สภาพทั่วไปภายในบ่อขยะบ่อเดิม หรือ บ่อขยะหนองใหญ่ เนื้อที่กว่า 10 ไร่ดูดีขึ้นมาก ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนจากปัญหามลพิษ หรือ ควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ในทุกๆปี ที่ผ่านมานั้น กลิ่นและควันไฟจากกองขยะส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาในหลายปีที่ผ่านมา และหลังจากที่ทางเทศบาลได้ทำการกลบฝังกองขยะเก่าแล้ว ปัญหาก็หมดไป อีกทั้งยังได้จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ขึ้น และอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมคัดแยกขยะไปขายเองได้อีก

ขณะที่การรองรับขยะมูลฝอยของบริษัทท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกลุ่มที่ 1 ทั้ง 40 แห่ง ขณะนี้มีเพียง 16 แห่งเท่านั้นที่นำขยะไปทิ้งยังบ่อขยะแห่งนี้ เฉลี่ยประมาณวันละเกือบ 50 ตัน แต่ศักยภาพของบ่อขยะทั้ง 2 บ่อ สามารถรองรับขยะได้มากถึงเกือบ 2 แสนตัน พร้อมทั้งยังได้ตั้งเป้ากำจัดขยะตกค้างทั้งจังหวัดสระแก้วที่มีมากกว่า 1 แสน 5 หมื่น 8 พันตัน / ขณะที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดแห่งชาติ ปี 2560 ระบุไว้ว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จะต้องมีระบบรองรับรวมถึงภาชนะจัดเก็บขยะมูลฝอยชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ ภายในไม่เกินปี 2563 นี้ แต่กลับพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ ยังคงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ยังไม่มีระบบบริหารจัดการขยะตามข้อกำหนด โดยยังคงมีการลักลอบนำขยะไปทิ้งตามสถานที่ต่างๆที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงตามพื้นที่ป่าหรือที่ดินชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการส่งผลกระทบในด้านมลภาวะในระยะยาวอีกด้วย

ไตรรัตน์ มีวงษ์ จ.สระแก้ว รายงาน