ฉก.ทพ.26 ร่วมกับปศุสัตว์,ส่วนราชการ,รัฐวิสาหกิจ และประชาชนในพื้นที่ อ.ละหานทราย สานต่อโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ธนาคารโค-กระบือสร้างชีวิต สร้างอาชีพเกษตรกรไทย
“ความเป็นมา”
โค-กระบือ มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก เพราะช่วยทุ่นแรงชาวนาในกระบวนการผลิตข้าวเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ไถพรวน นวดข้าว ขนย้ายผลผลิต รวมถึงใช้ลากเกวียนเพื่อการขนส่งอีกด้วย แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าและการขยายตัวของเทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักรและเครื่องมือทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตสูง ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เกษตรกรที่มีฐานะยากจนจึงไม่สามารถดำเนินวิถีการผลิตเช่นนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็พลอยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะโค-กระบือกลายเป็นสิ่งหายากและมีราคาสูง จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกษตรกรร้อยละ 20 ที่ไม่มีโค-กระบือเป็นของตนเอง ต้องเช่าโค-กระบือในอัตราค่าเช่าสูงคิดเป็นข้าวเปลือก 50-100 ถังต่อปีบางครั้งผลผลิตที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะชำระค่าเช่า ทำให้เกษตรกรเกิดภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนและความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ทรงทราบถึงปัญหาเกษตรกรต้องเช่าโค-กระบือไถนาและต้องจ่ายค่าเช่าจนไม่เหลือเงินเลี้ยงครอบครัว จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการ ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรแบ่งเบาภาระค่าเช่า และเพื่อดำเนินการให้เกษตรกรมีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือไว้ใช้แรงงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ความว่า “ธนาคารโคและกระบือก็คือการรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุมดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้
ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโคและกระบือตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุนแรงในกิจการเกษตรแต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ธนาคารโคและกระบือพอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งที่มีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือ ก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคและกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม” รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์ เริ่มดำเนินการตามโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ (ธ.ค.ก.) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 มีชื่อภาษา อังกฤษว่า Royal Cattle-Buffalo Bank for Farmers โดยใช้โค-กระบือของกรมปศุสัตว์จำนวน 280 ตัวไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ด้วยการให้เช่าซื้อและผ่อนส่งใช้คืนในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นได้มีผู้ร่วมบริจาคสมทบโครงการอีกจำนวนมาก โครงการจึงขยายไปดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบันต่อมา มีการปรับโครงสร้างระบบราชการตามนโยบายของรัฐบาลส่งผลให้หน่วยงานระดับอำเภอถูกยุบเลิกไปทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมดูแลและให้บริการแก่ประชาชน ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบควบคุมดูแลซึ่งกันและกันเพื่อเป็นเครือข่ายประสานงานกับส่วนราชการและเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน กรมปศุสัตว์มุ่งสนองพระราชดำริตามรอยเบื้องพระยุคลบาท โดยสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง และเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อีกทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการฯ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยเน้นให้เกิดชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกันเองในชุมชนนั้นๆ หวังสร้างความเข้มแข็งชุนชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการใช้แรงงานจากโค-กระบือและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยคอกเพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยวัตถุประสงค์ของโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามระราชดำริ คือเพื่อช่วยให้เกษตรที่ยากขนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ โดยการให้บริการเกษตรกร มี 5 วิธี คือ 1.การให้ยืมเพื่อการผลิต 2.การให้เช่าซื้อ 3.การให้ยืมพ่อพันธุ์โค-กระบือ 4.การให้เช่าเพื่อใช้แรงงาน และการให้บริการอื่นๆนอกจากนี้คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือ มีดังนี้
1.เป็นการเกษตรกรมีสัญชาติไทยอายุครบ 20 ปีบริบรูณ์ขึ้นไป
2.มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์
3.มีความประพฤติดี และยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ
4.ยังไม่เคยได้รับโค-กระบือ จากโครงการอื่นๆ
5.มีความเหมาะสมและสามารถดูแลโค-กระบือได้
6.มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์หรือได้รับการรับรองจากคณะกรรรมการหมู่บ้าน
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหนึ่งในอาสาปศุสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จจากการเลี้ยงโค-กระบือที่ได้รับจากธนาคารโค-กระบือที่ผ่านมา
ขอขอบคุณภาพข่าวจาก ไทบ้าน นิวส์ (พรพิพัฒน์ เพ็ชรสังหาร)