กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชี้ธุรกิจสหกรณ์โคนมเติบโตต่อเนื่อง ขยายช่องทางธุรกิจรองรับยุค New Normal ดึงผู้สอบบัญชีประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชี้ธุรกิจสหกรณ์โคนมเติบโตต่อเนื่อง ขยายช่องทางธุรกิจรองรับยุค New Normal

ดึงผู้สอบบัญชีประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก

 

 

 

นางสาวจินดา เสถียรุจิกานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและการสอบบัญชี สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสบพบว่าขณะนี้ภาพรวมปริมาณธุรกิจของสหกรณ์โคนม ชี้เติบโตและขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยในระยะ 10 ปี รวมทุนดำเนินงานกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เน้นผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ประเมินความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทพร้อมตรวจสอบข้อมูลด้านการเงินการบัญชีเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และเท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ลดความเสี่ยงการทุจริตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นว่า อาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า มีอาชีพที่มั่นคงเป็นหลักแหล่ง โดยทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการโคนมไทย” ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ได้รวมกลุ่มกันดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ตามแนวพระราชดำริ หน่วยงานทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านการจัดการฟาร์มโคนมและการแปรรูปอุตสาหกรรมนมครบวงจร และได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสหกรณ์โคนม รวม 94 สหกรณ์ จำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 19,389 คน

สำหรับธุรกิจของสหกรณ์โคนม มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตร ประกอบด้วย

1.ธุรกิจการรับฝากเงิน เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีการออม นอกเหนือจากการถือหุ้น

2.ธุรกิจการให้สินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในด้านเงินทุน เพราะการเลี้ยงโคต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก

3.ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิต ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของสหกรณ์ โดยการรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิก จำหน่ายให้บริษัทเอกชนหรือสหกรณ์อื่น ๆ สำหรับสหกรณ์ที่มีโรงงานแปรรูปนม จะนำน้ำนมดิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ นมยู เอช ที และไอศกรีม สำหรับผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) บางสหกรณ์กำลังการผลิตของเครื่องจักรมีมากก็จะรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์นมให้กับบริษัทเอกชนเพื่อสร้างรายได้ให้เกิดความคุ้มค่าสำหรับการลงทุนในเครื่องจักร

4.ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้กับสมาชิกได้แก่ เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ และสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับอาหารสัตว์บางสหกรณ์ก็มีการผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายด้วย

5.ธุรกิจการทำฟาร์มโคนม สำหรับธุรกิจนี้สหกรณ์ต้องการพัฒนาคุณภาพฟาร์มและน้ำนมดิบให้มีมาตรฐาน จึงเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนและแรงงานค่อนข้างมาก

6. ธุรกิจการขายและให้บริการด้านเครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัว และปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ที่เรียกว่า ยุค New Normal ตัวอย่างเช่น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัดซึ่งขยายช่องทางจำหน่ายนมพาสเจอไรซ์ เปิดธุรกิจใหม่  “ร้านแฟรนไชส์ หนองโพ Cafe” ขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนที่สนใจ และเพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ดีลิเวอรี่ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปริมาณธุรกิจของสหกรณ์โคนมในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2562ธุรกิจรวบรวมผลิตผล มีปริมาณมากที่สุดร้อยละ 45.15 รองลงมาเป็นธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายและการแปรรูป ในส่วนของทุนการดำเนินงานของสหกรณ์ จำนวน 14,315.29 ล้านบาท เป็นหนี้สินทั้งสิ้น 10,250.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.60 ในหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเงินกู้และเครดิตการค้า 7,315.20 ล้านบาท และเป็นทุนของสหกรณ์4,065.27 ล้านบาท ส่วนของสินทรัพย์ทั้งสิ้นสหกรณ์ลงทุนในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ 5,010.65 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีและการสอบบัญชี สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บอกอีกว่า จากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์โคนม ที่มีความหลากหลายและมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการพัฒนาให้ทัดเทียมกับธุรกิจภาคเอกชน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงมุ่งเน้นให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของกรมฯ ในการปฏิบัติงานสอบบัญชี เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งผู้ที่จะใช้ข้อมูลด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีจึงจำเป็นต้องมีหลักการประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบข้อมูลด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์อย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน อาทิ ด้านคุณภาพน้ำนมดิบ ควรมีการสอบทานกระบวนการรวบรวมน้ำนมดิบของสหกรณ์ว่ามีการปฏิบัติตามระบบอย่างสม่ำเสมอ โดยดูการปฏิบัติจริง และสอบถามเจ้าหน้าที่และสมาชิกที่มาส่งน้ำนมการวิเคราะห์การสูญเสียในแต่ละรอบการผลิต เนื่องจากการผลิตสินค้าจะมีการสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

ดังนั้น ผู้สอบบัญชีจึงควรวิเคราะห์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและหาความแตกต่างหรือสิ่งที่ผิดปกติการสอบทานสัญญาและเงื่อนไขตรวจสอบว่า สหกรณ์มีการติดตามลูกหนี้การค้าหรือประสานงานกับตัวแทนอย่างไร หากเก็บมาแล้วไม่นำส่งสหกรณ์มีมาตรการเช่นไรเป็นต้น นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่าสหกรณ์มีการวางแผนบริหารเงินทุนที่ได้มาและใช้ไปเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เหมาะสม รวมไปถึงการกำหนดราคาขาย การวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบรายได้ในแต่ละธุรกิจ และการบันทึกค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเอกสาร การอนุมัติรายการ วิเคราะห์ เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นสิ่งหรือรายการที่ผิดปกติ

“สหกรณ์ เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย โดยมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายเทียบเท่าภาคเอกชนและมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ซึ่งหากนับรวมทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศขณะนี้ มีทุนดำเนินงานประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถือว่ามากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ วางแผนให้กับสหกรณ์ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคตได้ และประเมินความเสี่ยงว่า ในกิจกรรมของสหกรณ์นั้น เรื่องใดมีความเสี่ยงหรือต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร รวมทั้งสอดส่องดูแลพฤติกรรมของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกทุกคนว่าได้รับการดูแลจากสหกรณ์เป็นอย่างดีและได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม”