ศรีสะเกษ !! องคมนตรีตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพระยาไกรภักดี ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม อาคารเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2563 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษาให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันได้บูรณาการความร่วมมือพันธกิจสัมพันธ์กับหน่วยงานทุกภาคส่วนหลอมรวมกับวิถีชุมชนเป็นอย่างดี โดยใช้งานวิจัยสร้างองค์ความรู้ ใช้หลักวิชาการในการแก้ปัญหา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพจนเกิดเป็นนวัตกรรมชุมชน ด้วยความเหมาะสมในบริบทของพื้นที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ต้องเร่งช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับ
ผลกระทบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อนามัยสิ่งแวดล้อม และการศึกษา โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 หัวหน้าส่วนราชการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เข้าร่วมประชุมและให้การต้อนรับ
ในการนี้ ได้รับฟังการรายงานแผนช่วยเหลือและฟื้นฟูประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 โดย ผวจ.ศรีสะเกษ และ ผวจ.ยโสธร ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่บริการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปแผนงานยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพิ่มรายได้ครัวเรือน ภายใต้สถานการณ์ COVID-19
และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน องคมนตรีและคณะ ก็ได้พบปะกับนักศึกษากว่า 900 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างบัณฑิตราชภัฏให้เป็นวิศวกรสังคม ทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ซ่อมและสร้างชุมชนบ้านเกิด ด้วยองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 51 ตำบล โดยนักศึกษาจะได้รับการพัฒนาทักษะวิศวกรสังคม 4 ประการ ได้แก่ ทักษะการคิดเชิงเหตุ-ผล เห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย ทักษะการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง ระดมสรรพกำลังทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหา และทักษะการสร้างนวัตกรรมชุมชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของนักศึกษาต่อไปในอนาค
ข่าว/ภาพ …. บุญทัน ธุศรีวรรณ