โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้รับพระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจก-ระบบสื่อสารทางไกล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้รับพระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจก-ระบบสื่อสารทางไกล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19

 

วันนี้ (24 สค.63) นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานพิธีรับพระราชทาน นวัตกรรมทางการแพทย์ หุ่นยนต์ปิ่นโต และกระจก-ระบบสื่อสารทางไกล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 โดยมี นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว นายณัฏฐพงศ์ สุขวิศิฏฐ์ นายอำเภอเมืองสระแก้ว หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล คณะแพทย์ พยาบาล และบุคลการทางการแพทย์ เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า การได้รับพระราชทาน”หุ่นยนต์ปิ่นโต”และ”กระจก-ระบบสื่อสารทางไกล” ในครั้งนี้ ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีต่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จะนำ”หุ่นยนต์ปิ่นโต”และ”กระจก-ระบบสื่อสารทางไกล” ที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดและเต็มกำลังความสามารถ

สำหรับ “ปิ่นโต” เป็นหุ่นยนต์ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยระยะไกล(Quarantine Delivery Robot) ติดตั้งพร้อมระบบภาพสื่อสารทางไกลผ่านหน้าจอที่ติดอยู่ที่รถเข็นควบคุมทางไกลใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงและระยะเวลาที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ  แต่ยังสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้งานโดยบุคลากรก็ง่ายและสะดวก มีการทดลองกับผู้ป่วยจริง ทำให้หุ่นยนต์ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังทำความสะอาดง่าย ทนต่อการ ฆ่าเชื้อ และสามารถผลิตได้ง่ายในระยะสั้น “กระจก” เป็นหุ่นยนต์แท็บเล็ตที่ติดตั้งภายในห้องพักผู้ป่วย เพื่อสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ทำหน้าที่สอดส่องดูแล และพูดคุยกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลา เปรียบเสมือนกระจกที่แสดงภาพและเสียงของบุคคลในการสื่อสารกับแพทย์และพยาบาล หุ่นยนต์นี้นอกจากช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจผู้ป่วย  อาทิชุดป้องกัน อันตรายสำหรับปฏิบัติงานสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน หรือชุด “PPE” ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันใบหน้า ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลน