“เฉลิมชัย” นำทีมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะวิกฤติลุ่มน้ำประแสร์ เตรียมแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วนและระยะยาว หวังแก้ไขปัญหาอย่างยังยืน

“เฉลิมชัย” นำทีมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะวิกฤติลุ่มน้ำประแสร์ เตรียมแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วนและระยะยาว หวังแก้ไขปัญหาอย่างยังยืน

 

  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน​ รมว.เกษตรฯเปิดเผยภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะวิกฤติลุ่มน้ำประแสร์ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ทั้งสิ้น 175,000 ไร่ โดยอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำที่ระดับน้ำเก็บกัก 295 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ส.ค. 63) มีจำนวน 92.65 ล้าน ลบ.ม. (31.41 %) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีการจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ (ในช่วงเดือน พ.ย. 63 – มิ.ย. 64) คาดว่าจะมีน้ำต้นทุน 248 ล้าน ลบ.ม. โดยจะมีการผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและคลองใหญ่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย การใช้น้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ชลประทานฝั่งขวา การใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงการระเหยและรั่วซึมของเขื่อนประแสร์ ซึ่งคาดว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้การถึงวันที่ 1 ก.ค. 64 จำนวน 98 ล้าน ลบ.ม. สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วน ได้มีการก่อสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวคลองสะพานมาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปัจจุบันต่อเชื่อมท่อลงอ่างฯ ประแสร์ แล้วเสร็จสามารถสูบน้ำได้ 170,000  ลบ.ม./วัน  ดำเนินการสูบน้ำแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 – 23​ ส.ค.​ 63 มีปริมาณน้ำ 7.11  ล้าน ลบ.ม. และงานขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ขอบอ่างและบริเวณใกล้เคียงสามารถใช้น้ำในอ่างได้กรณีระดับน้ำในอ่างมีระดับต่ำลง

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาว มีการดำเนินโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยโครงการดังกล่าว มีระยะเวลาในการดำเนินการในปี 2562 – 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ สำหรับสนับสนุนความต้องการใช้น้ำตาม “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตอบสนองความต้องการใช้น้ำอย่างสมดุลทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการผันน้ำส่วนเกินในคลองสะพานไปเก็บกักยังแหล่งน้ำใกล้เคียง และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยอง อีกทั้งยังมีแผนดำเนินโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จังหวัดชลบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 มีพื้นที่เป้าหมายหลักประกอบด้วยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยคาดว่าแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคจะมีการขยายตัวและเติบโตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น พบว่า ในระยะ 10 ปี ข้างหน้าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. และเป็นความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ชลบุรีมากถึงประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำดังกล่าว ซึ่งวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการฯ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพทางด้านการจัดการน้ำให้แก่พื้นที่เศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรี มีระยะเวลาดำเนินการ  3 ปี (2564 – 2566) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำบางพระจังหวัดชลบุรี ปีละประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ช่วยในเรื่องการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรี จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 240,000 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 1.20 ล้านคน​

  นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้าง​ระบบท่อส่งน้ำบ้านยางงาม​ ซึ่งจะก่อสร้างระบบแพร่กระจายน้ำด้วยท่อเหล็กเหนียวความยาวประมาณ​ 6​ กิโลเมตร​ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในการทำสวนผลไม้ช่วงฤดูแล้ง​ และเพื่อกระจายน้ำให้กับเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำในการเพราะปลูกประมาณ​ 5,000​ ไร่​ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาความเหมาะสมแล้ว​ และสำหรับโครงการสุดท้าย​ของแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาว คือโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านแก่งหวาย​ ที่ตำบลชุมแสง​ อำเภอวังจันทร์​ จังหวัดระยอง​ โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ​ 1​ แห่ง​ บานระบายขนาด​ กว้าง​ 6​ เมตร​ สูง​ 4.5​ เมตร​ จำนวน​ 5​ บาน​ เพื่อยกระดับน้ำในคลองสะพานให้สูงขึ้น​ และเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในคลองสะพาน​ รวมถึงใช้ในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งสำหรับเกษตรกรผู้ใช้น้ำกว่า​ 900​ ไร่​ และยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์​ สำหรับสนับสนุนความต้องการใช้น้ำตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก​ (EEC)​ โดยคาดว่าจะสามารถสูบผันน้ำจากคลองสะพานได้ถึงปีละ​ 50​ ล้านลบ.ม.​ เเละมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ถึง​ 900​ ไร่​ โดยโครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาความเหมาะสมแล้ว