รมว.เกษตรฯ นำทีมลงพื้นที่ติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ รองรับพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปผลและแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ณ ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ว่า ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 63) มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 957 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 802 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 42 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 14 แห่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงมีแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พ.ค. 63 – 31 ต.ค. 63) 1,215 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค 265 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 154 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 199 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 597 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 390 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC (จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี) มีปริมาณน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 63) มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 487 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 386 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงมีแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พ.ค. 63 – 31 ต.ค. 63) 644 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค 135 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 153 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 112 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 244 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 209 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูฝน 2563 ใน 5 กรณี ทั้งกรณีน้ำมาก กรณีน้ำเฉลี่ย กรณีน้ำน้อย กรณี Inflow ปี 2538 และกรณีน้ำ AVG-5% โดยได้วางมาตราการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 ไว้ 8 มาตราการ ดังนี้ 1) สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล สูบถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 60 ล้านลบ.ม. 2) สูบคลองสะพานเติมอ่างฯประแสร์ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 15 ล้านลบ.ม. 3) สูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) เติมอ่างฯหนิงปลาไหล ถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำรวม 4.84 ล้านลบ.ม. 4) การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสูบใช้น้ำคลองน้ำหู ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 5 ล้านลบ.ม.5) สูบผันน้ำคลองพระองค์ฯ/พานทอง - อ่างฯ บางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 50 ล้านลบ.ม. 6) สูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง- อ่างฯบางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 20 ล้านลบ.ม. 7) ประหยัดการใช้น้ำทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง และชลบุรี 8) สูบปันน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาลงอ่างประแสร์ มีแผนการสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 12 ล้านลบ.ม.
อย่างไรก็ตามน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะการบริหารจัดการที่ดีเป็นหัวใจของระบบทั้งหมด รวมถึงต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรเป็นหลัก ดังนั้นกรมชลและทุกภาคส่วน ต้องดูแลและคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เริ่มจากสำรวจและดูปริมาตรที่แท้จริงของอ่างฯ และฝายต่าง ๆ ที่มีอยู่ เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างใช้งานมานาน อาจมีการตื้นเขินมากขึ้น การสำรวจและขุดลอกจะช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บ รวมถึงต้องรณรงค์การใช้น้ำอย่างมีคุณค่าอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีน้ำใช้การเยอะหรือน้อย ต้องรณรงค์ให้เกิดเป็นนิสัย โดยต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ไปถึงปลายทางของน้ำ ต้องขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย และการเริ่มโครงการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำต่าง ๆ ต้องขอให้ดูพื้นที่ที่มีฝนมากเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ไปสร้างเพิ่ม และเมื่อสร้างแล้วใช้ท่อส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เรามีน้ำใช้เพียงพอในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกในอนาคตจะกลางเป็นส่วนกลางของความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาครึกคักอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายลง ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และความเจริญจากการขยายเมืองออกมาจากภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัว วางแผนบริหารจัดการ และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อมีน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต