พ่อเมืองศรีสะเกษ ติวเข้มหัวหน้าส่วนภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากศรีสะเกษ สู่ความยั่งยืนที่จังหวัดอุดรธานี
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18- 19 สิงหาคม 2563 ได้นำคณะตัวแทนผู้ผลิต ผู้ประกอบสินค้าโอท็อปประเภทผ้า คณะหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคเอกชนอาทิ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษและดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ และคณะรวมทั้งสิ้นจำนวน 50 คน ตามโครงการยกระดับผ้าทอพื้นเมืองอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ศึกษาดูงานการยกระดับผ้าทอเกษตรแปรรูปและโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนวาระของจังหวัดปี 2563 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อ ให้ภาคีเครือข่ายร่วมบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดินแดนเกษตรปลอดภัยการค้าและการท่องเที่ยวครบวงจร พัฒนาผ้าทอมือ ธานี ผ้าศรี และผ้าแส่วศรีสะเกษ ให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและใช้ภูมิปัญญาเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้
การเดินทางในครั้งนี้ ได้ศึกษาดูกระบวนการเสริมสร้างนวัตกรรมและการออกแบบผ้าพื้นเมืองที่ศูนย์สร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โดยมี ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย ประธานศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มรภ.อุดรธานี (FTCDC) และคณะร่วมให้การต้อนรับและจัดแฟชั่นนวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน Fashion & Innovation in Fabric and Textiles 2020 การเดินแบบแฟชั่นผ้าทอ จากนักศึกษาFTCDC มรภ.อุดรธานี การนำเสนอ ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ และการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อบูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทอผ้า มาประยุกต์กับองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ให้มีศักยภาพในการช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ยกระดับผ้าทอชุมชนสู่สากล การส่งเสริมปลูกฝ้ายสี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ การพัฒนานวัตกรรมมาตรฐานสีย้อมธรรมชาติจากบัวแดง และการพัฒนาการผลิตครามพื้นเมือง
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติจากดอกลำดวน ไม้มะดัน ดินลาวา ดินทุ่งกุลา คล้ายกับจังหวัดอุดรธานีใช้ดอกบัวแดงมาย้อมสีผ้า แต่จังหวัดอุดรธานีมีนวัตกรรมมาตรฐานสีย้อมธรรมชาติ มีเคล็ดลับส่วนผสมที่ผ่านการวิจัยจนเป็นสูตรลับทำให้สีไม่ตก จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนอกจากดูงานที่ FTCDC มรภ.อุดรธานี โดยการนำคณะไปดูกระบวนการบริหารจัดการผ้าพื้นเมืองครบวงจรที่ศูนย์ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ศึกษาหมู่บ้านโอท๊อป นวัตวิถีครบวงจร ศึกษาวิถีชีวิตไทยพวน ศึกษาการเชื่อมโยงการตลาดและสินค้าการเกษตร ที่ตลาดจริงใจ เซ็นทรัลอุดร ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คณะจังหวัดศรีสะเกษได้ศึกาดูงานและถอดบทเรียน และมีการถกปัญหาที่ผ่านมาของการผลิตผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษและเปรียบเทียบกับการก้าวสู่อินเตอร์ของจังหวัดอุดรธานี ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนหลายด้าน ได้เรียนรู้การทำสีผ้าจากวัสดุธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าว/ภาพ …. บุญทัน ธุศรีวรรณ