กรมการข้าวชนะเลิศ “นวัตกรรมข้าวไทยรองรับการส่งออกของตลาดโลก”
Thailand Research Expo 2020ผลงาน “นวัตกรรมข้าวไทยรองรับการส่งออกของตลาดโลก” ชูข้าวพันธุ์เด่น 6 สายพันธุ์
คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในปี2563
นายสถาพร ตัมพวิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 – 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการจัดงาน Thailand Research Expo 2020 หรือมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีหน่วยงานเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศกว่า 150 หน่วยงานส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15
ทั้งนี้ กรมการข้าวร่วมส่งผลงาน “นวัตกรรมข้าวไทยรองรับการส่งออกของตลาดโลก” ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน Platinum Award จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท
ภายในนิทรรศการจัดแสดงพันธุ์ข้าวที่รับรองพันธุ์และสายพันธุ์ข้าวที่เตรียมรับรองพันธุ์รวม 6 สายพันธุ์ ได้แก่ กข79 (ชัยนาท62) เป็นข้าวอมิโลสต่ำ ข้าวสุกนุ่ม ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ , ข้าวเจ้าพันธุ์หอมใบเตย62 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ลำต้นค่อนข้างแข็ง ข้าวสวยมีสีขาวนวล นุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม , ข้าวเจ้าพันธุ์เม็ดฝ้าย62 เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ ไวต่อช่วงแสง
มีคุณสมบัติในการป้องกันการกระจายของเชื้อแบคทีเรียการติดเชื้อ , ขาวเจ๊กชัยนาท4 เป็นข้าวเจ้าขาวเจ๊กสายพันธุ์บริสุทธิ์ คุณภาพดี กลิ่นหอม และเป็นที่นิยมเฉพาะถิ่นของจังหวัดชัยนาท , กข85 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และทนทานต่อสภาพอากาศเย็น ใช้ปลูกในพื้นที่นาชลประทานในเขตภาคเหนือตอนล่าง และ กข87 เป็นข้าวสุกนุ่ม ผลผลิตสูง ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ในเขตนาชลประทานหลากหลายพื้นที่