“เฉลิมชัย” พร้อมเสนอครม.หลัง “ฟรุ้ตบอร์ด” เห็นชอบโครงการเยียวยาชาวสวนลำไยกว่า 3 พันล้าน พร้อมเดินหน้าโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” เร่งระบายลำไยผ่านตลาดออฟไลน์ออนไลน์ ด้านอลงกรณ์ประชุม “AIC” ตั้งสถาบันลำไยเร่งวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าลดพึ่งพาส่งออก

“เฉลิมชัย” พร้อมเสนอครม.หลัง “ฟรุ้ตบอร์ด” เห็นชอบโครงการเยียวยาชาวสวนลำไยกว่า 3 พันล้าน พร้อมเดินหน้าโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย”

เร่งระบายลำไยผ่านตลาดออฟไลน์ออนไลน์ ด้านอลงกรณ์ประชุม “AIC” ตั้งสถาบันลำไยเร่งวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าลดพึ่งพาส่งออก

 

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (13 ส.ค.) ว่า คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) หรือฟรุ้ทบอร์ด โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้จัดประชุมนัดพิเศษตามคำสั่งของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาโครงการเยียวยาชาวสวนลำไยวงเงินกว่า 3 พันล้านบาท เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร โดยการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนลำไยเดือดร้อนจากปัญหาราคาตกต่ำเพราะผลกระทบจากโควิดระบาดรอบสองในจีน ทำให้โรงงานผลิตลำไยอบแห้งรับซื้อลำไยน้อยลงเช่นเดียวกับผู้ค้าส่งออกลำไยสดด้วยกังวลความไม่แน่นอนในการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ศุลกากรจีนเคร่งครัดเรื่องการสำแดงราคานำเข้าลำไยทำให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนการนำเข้าส่งออกลำไยไปจีนประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศทำให้พ่อค้าชาวจีนลดจำนวนการเดินทางเข้ามาในระหว่างนี้ทำให้ส่งผลต่อราคาลำไย

 

นายนราพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยให้สามารถฟื้นฟูการผลิตลำไยที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการผลิตและการตลาด รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนลำไยเพื่อประกอบอาชีพชาวสวนลำไยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2562 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุต้นลำไยตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป)

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาการส่งออก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ดดำเนินการโมเดลเกษตรพาณิชย์ทันสมัยตามแผนปฏิบัติการโอ2โอ. (O2O) ออฟไลน์ 2 ออนไลน์โมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย”เร่งระบายลำไยสดประมาณ 30% ของผลผลิตลำไยทั้งหมดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และบริษัทอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งเว็ปไซท์ช่วยเกษตร.com และบริษัทไปรษณีย์ไทย พร้อมทั้งสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภคลำไยในประเทศจับคู่ค้ารับซื้อผลลำไยสด ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับซื้อลำไยของสมาชิกในราคานำตลาด ส่งจำหน่ายข้ามจังหวัดและข้ามภาคเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งลำไยให้ผลผลิตมากที่สุดนั้น ได้ทำแผนกระจายสินค้าที่ได้วางไว้ก่อนหน้านี้

นายนราพัฒน์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร AIC ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในวันอังคารที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้เร่งรัดการจัดตั้ง “สถาบันลำไย” ในรูป AIC ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาลดต้นทุนเน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าลำไยลดการพึ่งพาการส่งออกเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกลำไยทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2562 โดยมีขนาดพื้นที่ปลูกลำไย ดังนี้ 1.น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ไร่ ประมาณ 61% คิดเป็น 121,475 ครัวเรือน 2. มากกว่า 5-10 ไร่ ประมาณ 20% คิดเป็น 41,236 ครัวเรือน 3. มากกว่า 10-15 ไร่ ประมาณ 7% คิดเป็น 15,252 ครัวเรือน 4. มากกว่า 15-20 ไร่ ประมาณ 3% คิดเป็น 7,640 ครัวเรือน 5. มากกว่า 20-25 ไร่ ประมาณ 1% คิดเป็น 3,682 ครัวเรือน และ 6. มากกว่า 25 ไร่ ประมาณ 3% คิดเป็น 7,367 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 196,655 ครัวเรือน