รองอธิบดีกรมชลประทาน ติดตามการดำเนินงานโครงการปรับปรุงกำแพงป้องกันตลิ่งฝั่งขวาประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการปรับปรุงกำแพงป้องกันตลิ่งฝั่งขวา ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามการดำเนินงานซ่อมแซมโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณช่วงฝั่งขวาที่มีปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมแซมเมื่อปี 2562 ปัจจุบันโครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมี นายสมัย ธรรมสัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม (ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสำนักงานชลประทานที่ 11) ,นายสุชาติ อินทร์ปรุง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรปราการ ,นายอุดม คงช่วย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 11 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชทาน เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เกิดจากพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าจนเข้าถึงสภาพพื้นที่อย่างถ่องแท้ และทรงนำหลักคิดจากการใช้ประโยชน์ของคลองลัดโพธิ์ที่ถูกขุดขึ้นมากว่า 300 ปี นับเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้หลักแห่งธรรมชาติ เป็นแนวทางเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
สำหรับประโยชน์ของโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถเบี่ยงน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้นเนื่องจากระยะทางน้ำไหลผ่านคลองลัดโพธิ์ 600 เมตร ใช้เวลาเพียง 10 นาที อีกทั้งยังสามารถหน่วงน้ำเค็ม โดยเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจะวิ่งอ้อมพื้นที่กระเพาะหมู บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่น้ำเค็มรุก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันสามารถปลูกผลไม้ได้ผลผลิตดีขึ้น
ทางด้านการบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก (พฤษภาคม – สิงหาคม / กันยายน – พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพิจารณาเปิดบานระบาย และช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม – เมษายน) เป็นช่วงพิจารณาปิดบานระบายเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำเค็มไหลผ่านช่องลัด อันจะส่งผลกระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำของชุมชนด้านเหนือน้ำ และเป็นการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อีกทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศวิทยาอีกด้วย