นครพนม สารภาพสิ้นไส้ กองทุน อบต.นาหว้า เจ๊ง !! เพราะบริหารงานหละหลวม อดีตนายกฯปากแข็งอ้างใช้หนี้หมดแล้ว ชาวบ้านจ่อแจ้งความผู้เกี่ยวข้อง

นครพนม สารภาพสิ้นไส้ กองทุน อบต.นาหว้า เจ๊ง !! เพราะบริหารงานหละหลวม

อดีตนายกฯปากแข็งอ้างใช้หนี้หมดแล้ว ชาวบ้านจ่อแจ้งความผู้เกี่ยวข้อง

จากกรณี ประชาชนชาวบ้านตาล หมู่ 9 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ร้องเรียนว่า องค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า(อบต.นาหว้า) ยุบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าอย่างกะทันหัน โดยอ้างว่าขาดทุนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตสูงเกินไป ทำให้ชาวบ้านจำนวน 1,700 คน ที่ส่งเงินสะสมวันละบาท ในนามชื่อ”กองบุญเพื่อสวัสดิการฯ” ได้รับความเดือดร้อน เช่น บางรายส่งเงินเข้ากองทุนมานานถึง 12 ปี เพราะได้เงินคืนเพียง 600 บาท  บางคนเพิ่งส่งไม่กี่ปีก็ได้เงินคืนแค่ 9 บาท เป็นต้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ล่าสุด ณ ศาลาประชาคม อบต.นาหว้า มีชาวบ้านผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนมารอฟังคำอธิบายจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ(ชุดใหม่)  โดยนายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอนาหว้า ได้เชิญคณะกรรมการชุดปัจจุบันมาให้รายละเอียดในห้องประชุมก่อนที่จะออกไปพบกับชาวบ้านที่นั่งรออยู่ในศาลาประชาคม  ซึ่งมี น.ส.แสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม(พมจ.ฯ) ร่วมประชุมด้วย เพราะถือว่า พมจ.ฯ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดสรรเงินอุดหนุนตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน อบต.นาหว้า ได้เชิญนายสนั่น บุตรจันทร์ อดีตนายก อบต.นาหว้า เข้าชี้แจงกรณีขณะดำรงตำแหน่งประธานกองทุนฯ ได้มีการนำเงินออกจากบัญชีไปใช้ส่วนตัวด้วย

เบื้องต้น นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พอช.ฯ) เล่าถึงความเป็นมาของกองทุนดังกล่าวที่ก่อตั้งเมื่อปี 2551 รวมทั้งจัดสรรเงินอุดหนุนเข้าบัญชีกองทุนฯ จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 914,320 บาท ในเวลาเดียวกันทาง อบต.นาหว้า ก็สมทบให้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านก็รวมกลุ่มเป็นสมาชิกประมาณ 1,700 คน เพราะเห็นแผ่นปลิวโฆษณาของ อบต.นาหว้า ระบุว่าแค่ออมเงินวันละบาท สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมชุชนฯ โดยการตั้งกองทุนฯเป็นสวัสดิการและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเกิด แก่ เจ็บ ตาย และให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ตลอดจนเป็นทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ ภายหลังเกิดการทุจริตเพราะผู้มีอำนาจในขณะนั้นยักยอกเงินออกจากบัญชีไปกว่า 1 ล้านบาท กระทั่งกลายเป็นปัญหาเพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี

ด้าน นายสิรวิชญ์ ไชยโคตร หัวหน้าสำนักปลัด อบต.นาหว้า ได้กล่าวว่าตนเข้ามารับไม้ต่อในช่วงที่กองทุนมีปัญหาแล้ว สิ่งที่ต้องรีบทำด่วนที่สุดคือแจ้งไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรฯ(ธกส.ฯ) สาขานาหว้า ระงับการเบิกจ่ายเงินในบัญชีกองทุน ที่มีนายสนั่น บุตรจันทร์ นายก อบต.นาหว้า และรองนายกฯอีก 2 คน มีอำนาจในการเบิกถอนเงินในบัญชี  ซึ่งในตอนหนึ่งนายสิรวิชญ์ฯพูดว่า ถ้าไม่ระงับไว้เงินในบัญชีจะไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว

ภายหลังตามบัญชีดังกล่าวกลับมาได้ จึงตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทน แต่เห็นว่ากองทุนคงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จึงปรึกษากับคณะกรรมการเห็นควรยุบกองทุน แล้วนำเงินที่เหลือกว่า 8 แสนบาท เฉลี่ยคืนชาวบ้านทั้ง 1,700 คน แต่ชาวบ้านเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงร้องเรียนผ่านสื่อดังกล่าว ซึ่งนายสิรวิชญ์ยอมรับว่าการบริหารจัดการหละหลวมมาก การตั้งผู้มีอำนาจเบิกจ่ายก็มีเพียงข้าราชการการเมือง ไม่มีข้าราชการประจำเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้นการถอนเงินออกจากบัญชีจึงง่าย และเท่าที่ทราบมีอดีตนายกฯกับอดีตรองนายกฯ รวม 2 คน ที่สมรู้ร่วมคิดแอบยักยอกเงินออกจากบัญชีไปใช้ส่วนตัว

ด้าน นายสนั่น บุตรศรี อดีตนายก อบต.นาหว้า ที่อยู่ในห้องประชุมด้วย ยอมรับว่านำเงินออกจากบัญชีจริง โดยอ้างเหตุผลถึงสาเหตุจำเป็น แต่ได้ทยอยใช้หนี้จนหมดแล้ว แต่นายสิรวิชญ์งัดหลักฐานการใช้หนี้ขึ้นมาแย้งว่า นายสนั่นยังมีหนี้ค้างชำระอีก 4 แสนกว่าบาท ถ้านายสนั่นมีหลักฐานหักล้างก็นำมาเปิดเผยต่อที่ประชุม ซึ่งนายสนั่นตอบว่าไม่มี

นายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอนาหว้า ได้กล่าวในที่ประชุมว่าการที่คณะกรรมการมีหนังสือถึงสมาชิกกองทุนฯ ตอบแบบสอบถามว่าเห็นควรยุบหรือไม่ยุบกองทุนฯนั้น ในระเบียบไม่ได้ระบุไว้ จึงถือว่าแบบสอบถามดังกล่าวโมฆะ จึงแนะนำคณะกรรมการชุดปัจจุบันเชิญสมาชิกทั้งหมดมาประชุมสามัญใหญ่ โหวดด้วยการออกเสียง แต่ถ้าไม่สามารถเชิญมาประชุมได้เป็นกลุ่มใหญ่ เนื่องจากสมาชิกกระจัดกระจายอยู่หลายหมู่บ้าน แนะให้ซอยย่อยด้วยการให้คณะกรรมการออกไปพบชาวบ้านในแต่ละหมู่ แล้วนำผลประชามติมาสรุปต่อไป

จากนั้นก็ออกมาพบกับชาวบ้านที่ศาลาประชาคม ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฯขึ้นมาเมื่อปี 2551 ไม่เคยมีการเชิญประชุมหารือ หรือมีหนังสือแจ้งถึงบ้านแม้แต่ครั้งเดียว พอได้รับหนังสือครั้งแรกก็บอกว่ากองทุนเจ๊งแล้ว พร้อมให้ติดตามเงินที่อดีตนายกฯนำไปใช้ส่วนตัว เชื่อทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน จึงจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่ สภ.นาหว้า ส่วนจะเป็นวันไหนต้องหารือกับสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนตามนโยบายของรัฐบาล นำมาให้แต่ละชุมชนบริหารจัดการกันเอง อบต.นาหว้าในขณะนั้นมีนายสนั่น บุตรจันทร์ เป็นนายกฯ ได้เชิญชวนชาวบ้านในเขตตำบลนาหว้า จำนวน 15 หมู่บ้าน มาร่วมกันสะสมเงินวันละ 1 บาท มีระเบียบดังนี้หากสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินฌาปนกิจศพตามขั้นบันได เช่น เป็นสมาชิกน้อยกว่า 3 เดือน ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 บาท เป็นสมาชิกครบ 8  ปี ได้รับเงิน 20,000 บาท แต่ถ้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินถึง 30,000 บาท เป็นต้น หรือถ้าเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ก็จะได้เงินตอบแทนวันละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ฯลฯ ในทุกๆเดือนจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บเงินถึงบ้าน ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 1,700 คน และด้วยไม่มีการบริหารจัดการที่ดี กลายเป็นช่องว่างให้มีการยักยอกเงินในบัญชีออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งนายสนั่นไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการชุดแรกให้ในที่ประชุมทราบ อ้างจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

 

ขอขอบคุณภาพข่าวจาก เทพพนม

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน