กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคต้นเน่า
ในระยะนี้จะมีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคต้นเน่า มักพบแสดงอาการในระยะที่ต้นข้าวโพดเริ่มออกดอกจนถึงระยะต้นข้าวโพด ติดฝัก ซึ่งในระยะนี้ต้นข้าวโพดจะอ่อนแอต่อโรคนี้มาก โดยอาการของโรคจะพบใบข้าวโพดมีสีเขียวอมเทา ต่อมาใบจะเหี่ยวสลด และไหม้แห้งตาย ส่วนบริเวณลำต้นเหนือดินพบแผลสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ต่อมาแผลจะแห้งยุบตัวลง ลำต้นจะแตกหรือฉีก เมื่อผ่าดูภายในลำต้นจะพบเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดอาการของโรคเป็นสีชมพูอมม่วง ลำต้นจะกลวงเพราะถูกเชื้อราย่อยสลาย ทำให้ต้นหักล้มได้ง่าย
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ กรณีเริ่มพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรถอนต้นข้าวโพดที่แสดงลักษณะอาการของโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที และควรหมั่นกำจัดวัชพืชภายในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้นสะสมในแปลงปลูก รวมทั้งก่อนการปลูกข้าวโพดในฤดูต่อไป เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก จากนั้น ให้ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเติมอินทรียวัตถุในแปลงปลูก
นอกจากนี้ ในการเพาะปลูกข้าวโพดครั้งถัดไป เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานโรค และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม 35% อีเอส อัตรา 3.5 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม อีกทั้งควรปรับระยะปลูกให้เหมาะสม ให้มีการระบายน้ำที่ดี ไม่ปลูกชิดกันเกินไป และไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณมากเกินไป