นครพนม เข้ม! เฝ้าระวังไข้เลือดออก พบระบาด 4 อำเภอ
รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 กรกฏาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 25,708 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ และจากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ชัยภูมิ รองลงมา คือ ระยอง ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน และนครราชสีมา ตามลำดับ สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่จากข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักและฝนตกสะสมหลายพื้นที่ ซึ่งหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1) เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1) โรคไข้เลือดออก 2) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3) โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 จังหวัดนครพนม ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563) มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 264 ราย อัตราป่วย 37.00 ต่อประชากรแสนคน (น้อยกว่าปี 2562 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน) และจากสถิติพบว่าอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดนครพนม ปี 2558 – 2563 สูงสุดในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ของทุกปี และอัตราป่วยเริ่มลดลงช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในปี 2562 และการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นการระบาดแบบปีเว้นปี และปีเว้น 2 ปี โดยกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราป่วยเท่ากับ 162.42 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี และกลุ่มอายุ 5-9 ปีมีอัตราป่วยเท่ากับ 109.42 และ 105.15 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อำเภอนาหว้า มีอัตราป่วยเท่ากับ 217.60 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอนาแก และอำเภอโพนสวรรค์ มีอัตราป่วยเท่ากับ 84.74 และ 22.61 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
พื้นที่ระบาดพบที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 5 ต.โพธิ์ตาก อ.เมือง หมู่ 2 ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.โคกสูง อ.ปลาปาก หมู่ 2 ต.หนองสังข์ อ.นาแก หมู่ 7 ต.หนองบ่อ อ.นาแก หมู่ 3 ต.คำพี้ อ.นาแก หมู่ 4 และหมู่ 5 ต.นาหว้า อ.นาหว้า หมู่ 4 ต.นางัว อ.นาหว้า หมู่ 13 ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า และหมู่ 5 ต.ดอนเตย อ.นาทม โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง รวม 69 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.นาแก 13 หมู่บ้าน อ.โพนสวรรค์ 12 หมู่บ้าน อ.นาหว้า 12 หมู่บ้าน อ.ปลาปาก 9 หมู่บ้าน อ.เมือง 9 หมู่บ้าน อ.ศรีสงคราม 6 หมู่บ้าน อ.ท่าอุเทน 5 หมู่บ้าน อ.ธาตุพนม 2 หมู่บ้าน และ อ.นาทม 1 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ได้มีการประชาชนสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนทราบเพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน ทุกสัปดาห์ และการป้องกันไม่ให้ยุงกัน โดยการทายากันยุงและกำจัดยุงในบ้าน
“โรคไข้เลือดออก จะมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ คือ 1) ไข้สูงลอย 2-7 วัน 2) มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง 3) มีตับโต กดเจ็บ และ 4) มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มีภาวะช็อก การป้องกันไข้เลือดออกปฏิบัติได้โดยแจ้งสาธารณสุขในเขตพื้นที่มาทำการฉีดยากันยุง พยายามอย่าให้ผู้ป่วยที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านโดนยุงกัดในระยะเวลา 5 วันแรก เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหลงเหลืออยู่ซึ่งหากโดนยุงกัดอาจทำให้แพร่กระจายสู่คนในบ้านได้ ทำการกำจัดลูกน้ำยุงลายรอบบริเวณบ้าน ถ่ายถ้วยน้ำรองขาโต๊ะหรือน้ำในแจกัน ติดมุ้งลวด หรืออย่างน้อยควรกางมุ้งเวลานอน และทายากันยุงป้องกันยุงกัด”
ภาพ/ข่าว. ปัญญา สสจ. เทพพนม รายงาน