โครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดป่ามหาชัย ได้เป็นครั้งแรกของโลก

โครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดป่ามหาชัย ได้เป็นครั้งแรกของโลก

 

 

โครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ (National Betta Bioresource Project) ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สมาคมปลากัด ร่วมกับบริษัทวิชูโอ ไบโอเมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์ของปลากัดป่ามหาชัยเป็นครั้งแรกของโลก โดย จีโนมไมโทคอนเดรียมีขนาด 16,980 คู่เบส และพบข้อมูลลำคัญบนจีโนมเพื่อใช้สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม และการแพร่กระจายของปลากัดป่า ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย

รศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานโครงการฯ พร้อมคณะทีมวิจัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันพบว่าปลากัดป่ามหาชัยเป็นปลากัดที่พบในประเทศไทยเท่านั้น มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยบริเวณป่าจาก แถบจังหวัดสมุทรสาคร และอาจพบได้ในจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนบางส่วนของพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการคุกคามและทำลายแหล่งที่อยู่ของปลากัดป่ามหาชัยเป็นอย่างมาก ทำให้ปลากัดชนิดดังกล่าวเสี่ยงสูญพันธุ์

 

ข้อมูลจีโนมดังกล่าวจึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อต่อยอดการพัฒนาวิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์และเข้าใจกลไกวิวัฒนาการและจุดกำเนิดของปลากัดป่ามหาชัย ซึ่งส่งเสริมงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของปลากัดป่ามหาชัย นอกจากนี้ทาง วช และ สมาคมปลากัดกำลังพยายามพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงปลากัดป่ามหาชัยเพื่อพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต และทดแทนการจับปลากัดป่ามหาชัยจากธรรมชาติ ดังนั้นข้อมูลจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญยิ่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร Mitochondrial DNA Part B: Resources เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2563
นับเป็นจีโนมที่ 5 ของปลากัดป่า ต่อจาก ปลากัดอมไข่ภาคใต้ (B. simplex), ปลากัดภูเขาภาคใต้ (B. apollon), ปลากัดอมไข่น้ำแดงหรือป่าพรุ (B. pi) และ ปลากัดป่าภาคกลาง (B. splendens) ซึ่งได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมโดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน