สทนช.เดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง แก้แล้งซ้ำซาก
สทนช.เดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง แก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก สทนช. เร่งศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง บูรณาการมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมน้ำต้นทุนให้ลุ่มน้ำลำตะคองสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค การทำการเกษตร ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของราษฎร พร้อมเปิดรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เชื่อมั่นสามารถแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช. กำลังดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ผ่านมาลุ่มน้ำลำตะคองซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำมูลได้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองไม่เพียงพอสำหรับความต้องการด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค ประกอบกับจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนประชากรและโรงงานอุตสาหกรรมมาก ทำให้ไม่สามารถจัดหาน้ำต้นทุนภายในลุ่มน้ำมาเพิ่มได้ ส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2558 เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา วันละไม่เกิน 35,000 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ในการผลิตน้ำประปา
ในขณะเดียวกันมีปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวเฉลี่ยประมาณ 21 วัน หากสามารถผันน้ำจากลุ่มน้ำ ป่าสักหรือลุ่มน้ำข้างเคียงมาเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนลำตะคองได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำลำตะคอง รวมถึงลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้อีกทาง
สทนช. ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ ครั้งที่ 1 พาสื่อมวลชนดูงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ เพื่อกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามลุ่มน้ำ และกำหนดแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำภาพรวมของประเทศ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำลำตะคองและบรรเทาปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำป่าสัก และคงความสมดุลของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณลุ่มน้ำลำตะคองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคง แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มจังหวัด