สสจ.นครพนม รายงานสถานการณ์โควิด ยอดใช้ไทยชนะ 28 ล. แนะเลือกใช้เจลถูกวิธี รับเปิดเทอม
วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 08.30 น. นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม มอบหมายนางสาวรัชนี เต็มอุดม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) ครั้งที่ 130/2563 เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่)
นางสาวรัชนี เต็มอุดม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สถานการณ์ภาพรวมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก(ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น.) มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 8,915,863 คน อาการรุนแรง 54,505 คน รักษาหายแล้ว 4,738,606 คน เสียชีวิตรวม 466,727 คน สถานการณ์ภาพรวมในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน (ติดเชื้อในประเทศ 0 คน สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 1 คน) ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,148 คน (ติดเชื้อในประเทศ 2,444 คน สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 211 คน) หายป่วยแล้ว 3,018 คน (ผู้ป่วยรักษาอยู่ 72 คน เสียชีวิต 58 คน ประวัติเสี่ยง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine จากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ 1 ราย จำนวนผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา กรุงเทพมหานครและนนทบุรี 1,757 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 441 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคใต้ 744 ราย
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.) ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19″ รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 2 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) รายใหม่ 0 ราย สะสม 151 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 3 ราย (รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 0 ราย) ข้อมูลผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 107 ราย คงเหลือติดตาม 14 ราย วันสิ้นสุดการติดตามวันที่ 2 กรกฎาคม 2563
การติดตามผู้เดินทางกลับจากจังหวัดเสี่ยง จำนวนผู้เดินทาง (กทม. นนทบุรี ภูเก็ต ยะลา และนราธิวาส) ระหว่างวันที่ 1-14 มิถุนายน 2563 (Self-Isolate : การกักตัวโดยสมัครใจ โดยการแยกตัวอยู่ห่างจากผู้อื่น เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 18/2563 ยอดสะสม 336 ราย เฝ้าระวัง 74 ราย จำนวนผู้เดินทาง (กทม. ภูเก็ต และนราธิวาส) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป (Self-Isolate) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 20/2563 ยอดสะสม 25 ราย เฝ้าระวัง 25 ราย (ข้อมูลจากแอฟพลิเคชัน NPM-COVID19 ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 15.00 น.)
อนึ่ง ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดผู้ใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2563) จำนวนผู้ใช้งาน 28,622,263 คน สัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ 56% ผ่านแอปไทยชนะ 88% กิจการ ร้านค้า ลงทะเบียน 207,380 คน ลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชั่น 368,066 คน นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประชาสัมพันธ์แนะนำผู้ปกครองเลือกผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีคุณภาพและสอนการใช้ให้ถูกต้องให้ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอม เพื่อป้องกันโรค ผู้ซื้อต้องดูฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งระบุข้อมูลสำคัญเช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วิธีใช้ คำเตือนและต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาออกให้แก่ผู้ประกอบการผลิต ตามเงื่อนไขที่กำหนด หากไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งนี้แอลกอฮอล์เจลควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยและการเปิดภาชนะบ่อยๆ ทำให้ปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ลดลง จนอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง สำหรับวิธีการใช้แอลกอฮอล์เจลต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย เมื่อหยดเจลลงบนฝ่ามือแล้วควรยื่นมือให้ออกห่างจากใบหน้าและลำตัวเพื่อป้องกันไอระเหยเข้าสู่จมูก และตา หรือหันหน้าออกไม่ให้รับไอระเหยโดยตรง ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้วและเล็บ แล้วปล่อยให้ระเหยหมดก่อน ที่จะไปสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้นเช่นการอยู่นอกสถานที่ ซึ่งไม่มีน้ำและสบู่ ใช้แล้วปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน
ภาพ/ข่าว ปัญญา สสจ. เทพพนม รายงาน