เกษตรกร เฮ! จุรินทร์ นำกองทุนฟื้นฟูฯ มอบโฉนดที่ดินคืนสิทธิ์ทำกินให้แก่เกษตรกร 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 เวลา 12.00 น. ณ หอประชุมเทศบาลยางชุมน้อย อําเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองนายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะ ในพิธีมอบโฉนดที่ดินคืนให้เกษตรกร 7 จังหวัด (บุรีรัมย์, มุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อํานาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี) และมอบเช็คเงินสดให้กับสหกรณ์ในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อชําระหนี้แทนเกษตรกรให้กับเจ้าหนี้
โดยนายไชยยศ กล่าวว่า ได้ประสานงานระหว่างกองทุนฟื้นฟูและกระทรวงเกษตรติดตามภารกิจที่ท่านได้ให้ความเป็นห่วงกับหนี้สินของเกษตรกร เมื่อคณะท่านได้เข้ามาทำหน้าที่ประธานกองทุนพบว่ามีหนี้สินที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 477,773 ราย รวมเป็นสัญญาทั้งสิ้น 700,948 ราย จำนวนเงินหนี้สินทั้งหมด 101,759 ล้านบาท หนี้สินหลักคือ หนี้ผิดนัดชำระ ภายใต้นโยบายของคณะท่านและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเราได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู คาดว่าจะได้รับการบรรจุเข้าพิจารณาภายในเดือนหน้า จะสามารถแก้ไขปัญหาพี่น้องเกษตรกร 300,000 กว่ารายได้
เมื่อวานนี้ได้เจรจากับทางธนาคาร ธ.ก.ส.ถึงข้อเรียกร้องของพี่น้องที่ขอลดยอดเงินต้นเหลือ 50% ทาง ธ.ก.ส.จะนำเข้าที่ประชุมของธนาคาร ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ปัญหาหนี้สินทั้งหลายคงจะสามารถแก้ได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้
ทางนายจุรินทร์ กล่าวว่า นายกฯได้มอบหมายให้มากำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกรซึ่งคิดไม่ถึงว่าสุดท้ายจะได้มีโอกาสมาดูแลเรื่องนี้เพราะเมื่อปี 2542 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ท่านนายกชวนเป็นคนอนุมัติพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกรเสนอเข้าสภา จนนำมาซึ่งการจัดตั้งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกรและที่คิดไม่ถึงก็คือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้งานการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรนั้นมีบุคคลคนหนึ่งที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีส่วนเห็นชอบเรื่องนี้ด้วยคือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกขณะนั้น
” วันนี้ 20 ปีได้มีโอกาสมาดูแลด้วยตัวเองดีใจ และผมเข้าใจวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรครบถ้วนว่าตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยเหลือดูแลพี่น้องในเรื่องอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุด 2 เรื่อง 1.เพื่อเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาหนี้สินให้กับพี่น้องเกษตรกร 2.พี่น้องจะต้องทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จต่อไปได้ด้วย จึงเป็นที่มาของการแก้หนี้แล้วต้องฟื้นฟูเกษตรกรให้กับพี่น้องทุกคนด้วย นี่คือปรัชญาหัวใจของกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกร” นายจุรินทร์ กล่าว
เมื่อตนเข้ามารับหน้าที่เราก็เร่งรัดงานประชุมกันดึกดื่นมาราธอน 6-7 ชั่วโมง ที่ผ่านมาเราดำเนินการโดยทุกคนมาขึ้นทะเบียนหนี้แล้วไปหาเงินก้อนหนึ่งมาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ของพี่น้อง เช่น เป็นหนี้สหกรณ์ ก. พอชำระไม่ไหวสหกรณ์จะยึดที่ดินเรา กองทุนฟื้นฟูจะหาเงินมาก้อนหนึ่ง มาช่วยซื้อหนี้จากสหกรณ์และโอนหนี้ที่น้องไปเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟู ถ้าไม่รีบมาช่วยซื้อหนี้ให้ สหกรณ์จะยึดที่พี่น้องแล้วจะไม่มีที่ดินทำกินสุดท้ายจนหนักไปกว่าเดิม
กองทุนฟื้นฟูจึงตั้งขึ้นมาช่วยซื้อหนี้แทนและให้พี่น้องชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูแทนแบบผ่อนปรน แต่ต้องใช้คืนเพราะคือเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ จะเอามาดูแลเราคนเดียวไม่ได้ ไม่ถูกต้องเราต้องยุติธรรมกับคนทั้งประเทศด้วย ต้องรักษาสัญญาชำระหนี้กับกองทุนฟื้นฟูให้จบสิ้นที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากที่เมื่อโอนหนี้จากเจ้าหนี้เอกชน เจ้าสหกรณ์เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆมาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูแล้วอุตสาหวิริยะทำงานชดใช้หนี้ผ่านกองทุนจนในที่สุดเป็นไทกับตัวเอง และวันนี้เฉพาะที่นี่ก็ตัวเลขปรากฏชัดเจนว่ามีพี่น้องเกษตรกรใน 7 จังหวัด 41 ราย ที่ดิน 56 แปลงจำนวน 360 ไร่ สามารถชำระหนี้กับกองทุนและเป็นไทกับตัวเอง ผมจะได้มอบโฉนดคืนให้กับเกษตรกรทั้งหมดในวันนี้
ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งและจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรรายอื่นได้เร่งรัดชำระหนี้ให้ครบถ้วนเพื่อจะได้ที่ดินทำกินกลับคืนมาเป็นของเรา และกองทุนจะไม่ทิ้งให้โฉนดของพี่น้องไปแล้วก็จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ฟื้นฟูชีวิตให้กับท่านต่อไป จนท่านยืนบนขาของตัวเองได้อย่างเข้มแข็งเป็นกำลังสำคัญให้กับการเกษตรของประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับท่านที่ยังเป็นหนี้อยู่ กองทุนฟื้นฟูก็เข้าใจภาระของท่านโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดที่หลายคนก็ติดขัด รายได้น้อยและมีปัญหา จึงเป็นที่มาที่ผมมอบเป็นนโยบายในการประชุมว่าเป็นไปได้ไหมที่กองทุนฟื้นฟูได้ช่วยพักชำระหนี้ซักซักระยะเวลาหนึ่งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระชั่วคราวคงไม่ตลอดไป ตอนนี้มอบท่านเลขาธิการหากรรมการไปยกร่างกฎระเบียบแล้ว เสร็จเมื่อไหร่ผมจะรีบไปประชุมและจะประกาศให้พี่น้องเกษตรกรทราบต่อไปว่าเราจะพักชำระหนี้มีรูปแบบไหนอย่างไร
“ผมจะพยายามหาหนทางช่วยเหลือดูแลพวกเราสุดความสามารถ ขอให้พี่น้องได้ทำหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ซื่อตรงชำระคืนนี่ตามเวลาที่กำหนด เพื่อเงินจะได้กลับไปและมาปล่อยหนี้ให้คนอื่นที่เขาเดือดร้อนกว่าเราได้กู้ต่อไปซึ่งเป็นเกษตรกรเหมือนเรา ขอบคุณมากครับ ” นายจุรินทร์ กล่าว
ข่าว/ภาพ …. บุญทัน ธุศรีวรรณ