ศาลอาญา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา

ศาลอาญา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา

 

วันนี้ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓) ที่ห้องประชุมชั้น ๑๐ อาคารศาลอาญา เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ศาลอาญาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับในศาลอาญา ในการนี้ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา , นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ,พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และพลตำรวจตรี สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว โดยมี นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาและประธานที่ปรึกษาโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” โครงการที่ ๓ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระแก่คู่ความและประชาชนผู้ใช้บริการศาล ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่อาจประกอบอาชีพการงานได้ปกติ ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว การตัดสินคดีอาญา ศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งโจทก์และจำเลย หากศาลเห็นว่า จำเลยมิได้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่หากศาลพิจารณาได้ความว่า มีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยกำหนดวิธีการลงโทษ ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด การลงโทษจำคุกจะใช้เฉพาะกรณีที่ จำเลยทำความผิดร้ายแรงและน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม เช่น คดีฉ้อโกงประชาชนที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๑,๔๔๖ ปี แต่กฎหมายให้ลงโทษจำคุกได้เพียง ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) เป็นต้น แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลอาจกำหนดโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้ หรือเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยไม่มีมลทินติดตัว ศาลอาจใช้วิธีการรอการกำหนดโทษแทนก็ได้ เช่น คดีลักเนื้อหมู ๒ กิโลกรัม ราคา ๒๔๘.๕๐ บาท ศาลอาญาพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ ๑ ปี กรณีดังกล่าวเป็นการใช้มาตรการทางเลือกอื่นนอกจาก การลงโทษจำคุกอันเป็นการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งยังเป็นการยกระดับ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการแสวงหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมมาใช้

ให้เป็นประโยชน์แก่คู่ความและสังคมสำหรับโทษปรับซึ่งอาจมองว่าเป็นโทษเบา แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ผู้ต้องโทษปรับอาจต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ด้วยการกักขังแทนค่าปรับ ศาลอาญาจึงนำนโยบายของประธานศาลฎีกา ที่ให้ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นมาขับเคลื่อนโดยนำการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้ในศาลอาญาในเชิงรุก และมอบหมายให้นายสุรจิตร เปลี่ยนขำ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานคณะทำงานโครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียวหรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐/๑

ซึ่งปัจจุบันยังมีจำเลยผู้ต้องโทษปรับจำนวนมากที่ไม่ทราบถึง สิทธิดังกล่าวทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจน ศาลอาญาจึงบูรณาการความร่วมมือกับ หน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องโทษปรับทราบถึงสิทธิที่จะขอทำงานแทนค่าปรับ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือแก่ผู้ต้องโทษปรับและไม่มีเงินชำระค่าปรับในการยื่นคำร้องขอทำงานแทนค่าปรับ รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม และดูแลเพื่อให้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับของผู้ต้องโทษปรับครบถ้วนตามเงื่อนไขและบรรลุความมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ มีทางเลือกที่จะไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับโดยไม่จำเป็นซึ่งช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักขัง นอกจากนี้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ถือเป็นการเปิดโอกาสใหผู้ต้องโทษปรับ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและยังทำให้ผู้ต้องโทษปรับรู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญความดีชดเชยให้แก่สังคมผ่านงานที่ทำด้วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคี เป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม

 

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน