โฆษกศาลฯ เผย ประธานศาลฎีกา จัดตั้ง 4 โครงการบรรเทาความเดือดร้อนคู่ความและประชาชน ปรับลดเงินประกันตัว ฯ ให้สอดคล้องช่วงวิกฤตโควิด-19

โฆษกศาลฯ เผย ประธานศาลฎีกา จัดตั้ง 4 โครงการบรรเทาความเดือดร้อนคู่ความและประชาชน ปรับลดเงินประกันตัว ฯ ให้สอดคล้องช่วงวิกฤตโควิด-19

 

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Coronavirus Disease : COVID-19) ในประเทศไทยและทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการขยายตัวของโรคอย่างกว้างขวางคือการที่บุคคลจำนวนมากมารวมกันอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอันจะทำให้เกิดผลร้ายแรงต่อสุขอนามัยของประชาชนในประเทศจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำกัดการเดินทางตลอดจนการประกอบกิจการบางประเภท มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ ไม่อาจประกอบอาชีพการงานเลี้ยงตนและครอบครัวได้ตามปกติ เกิดภาระหนี้สินตามมา ซึ่งหากบุคคลกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจโดยไม่ทันตั้งตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวนี้ เป็นผู้ที่มีอรรถคดีในศาลไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา และไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย ย่อมเสมือนมีความทุกข์ซ้ำซ้อนทับถม นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา จึงมีดำริให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศดำเนินโครงการลดภาระแก่คู่ความและผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีในศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการลดภาระของบุคคลกลุ่มดังกล่าวและแสวงหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมมาใช้เพื่อประโยชน์แก่คู่ความในสภาวะปัจจุบัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นโครงการย่อย 4 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 การงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ของคู่ความในการดำเนินคดี : มุ่งเน้นในการลดค่าใช้จ่ายบางประเภทในการดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคู่ความ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของศาล เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความคดีบางประเภท คืนค่าขึ้นศาลเป็นกรณีพิเศษเมื่อพิพากษาตามยอม ส่งสำเนาคำพิพากษาคดีฟรีถึงบ้าน นัดเหลื่อมเวลาเพื่อลดการใช้เวลาในศาล บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Servicce) / Drive Thru รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแทนการเดินทางมาศาล เป็นต้น

โครงการที่ 2 การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม : มุ่งส่งเสริมให้คู่ความร่วมหาวิธีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถยอมรับภายใต้เงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งจะทำให้ประชาชนและคู่ความสามารถเข้าร่วมไกล่เกลี่ยได้โดยเกิดภาระและกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพปกติน้อยที่สุด แต่สามารถยังผลของประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาทไว้เช่นเดิม

โครงการที่ 3 การกำหนดวงเงินประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยกรณีปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน : มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น เช่น ขยายโอกาสในการปล่อยชั่วคราวด้วยการกำหนดแนวทางการพิจารณาและมาตรฐานกลาง หลักประกันที่สอดคล้องกับกฎหมายและสถานการณ์ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นด้วยการใช้มาตรการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ และใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษ

โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงาน : มุ่งให้บริการประชาชนในเชิงรุกเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน เช่น โครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” โครงการ “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัยโควิด” ให้คำปรึกษาด้านแรงงานแก่ประชาชนทั่วประเทศ และบริการ Labour Court : Online For You เพื่อลดการเดินทางของคู่ความ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิการดำเนินคดี สิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและคู่ความที่ขาดรายได้หรือถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

 

 

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายประธานศาลฎีกาที่ได้มอบไว้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค สร้างความพึงพอใจ และมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนแก่คู่ความในการดำเนินคดี ขยายโอกาสแก่คู่ความในการเข้าถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในศาลได้โดยสะดวก รวดเร็ว และประหยัด เกิดการประนีประนอมยอมความ ให้โอกาสจำเลยสามารถชำระหนี้ได้ในเวลาและจำนวนที่เหมาะสม และไม่ทำให้การชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนค่าขึ้นศาลเป็นภาระแก่คู่ความฝ่ายใด รวมทั้งขยายโอกาสให้ผู้ต้องขังหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสุขอนามัย และช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยาความเดือดร้อน และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้านแรงงาน เนื่องจากไม่อาจประกอบอาชีพการงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ตามปกติได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังคาดหวังว่าการดำเนินบทบาทของศาลยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน