อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ สามารถควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดไม่พบม้าตายในทุกจังหวัดที่เคยมีการระบาด เร่งฉีดวัคซีนที่นำเข้ามาเป็นรอบที่ 2 เสร็จในอีก 2 สัปดาห์ เร่งเก็บตัวอย่างเลือดม้าลายที่เอกชนนำเข้ามาเพื่อประกอบการสอบสวนโรคที่เข้ามาระบาดในไทยเป็นครั้งแรก

อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ สามารถควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดไม่พบม้าตายในทุกจังหวัดที่เคยมีการระบาด

เร่งฉีดวัคซีนที่นำเข้ามาเป็นรอบที่ 2 เสร็จในอีก 2 สัปดาห์ เร่งเก็บตัวอย่างเลือดม้าลายที่เอกชนนำเข้ามาเพื่อประกอบการสอบสวนโรคที่เข้ามาระบาดในไทยเป็นครั้งแรก

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวว่า การเข้าควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ((African Horse Sickness : AHS) ของกรมปศุสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจำกัดพื้นที่ระบาดได้แล้ว ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ไม่พบม้าป่วยตายต่อเนื่องมา 4 วันแล้วทั้ง 12 จังหวัดที่เคยพบการเกิดโรคได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก และฉะเชิงเทรา มาตรการควบคุมโรคที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนซึ่งนำเข้ามาชุดแรก 4,000 โดสและชุดที่ 2 อีก 4,000 โดสซึ่งฉีดให้ม้าในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค 12 จังหวัด พื้นที่ข้างเคียง 7 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงตามการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยารวมเป็น 19 จังหวัด ปัจจุบันฉีดไปแล้วทั้งสิ้น 4,796 ตัว จากเป้าหมาย 7,999 ตัว และจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในอีก 2 สัปดาห์

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้เร่งสอบสวนหาสาเหตุการเกิดโรคเนื่องจากการระบาดของโรค AHS นี้เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทยจึงต้องหาที่มาเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการควบคุมและกำจัดโรคให้หมดจากประเทศไทยโดยเร็ว ทั้งนี้คณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ภายใต้คณะคณะอนุกรรมการด้านการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS ในม้าลาย ซึ่งมีรศ. นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าได้เก็บตัวอย่างเลือด (Whole blood/Serum) ปรสิตภายนอก อุจจาระ/ปัสสาวะ รวมไปถึงอุปกรณ์ ตลอดจนการบันทึกอื่นๆ หมายเลขประจำตัวสัตว์/ลายประจำตัวสัตว์/เลขไมโครชิพ และประวัติการทำวัคซีน หรือ ถ่ายพยาธิต่างๆ ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ได้แก่ สถานบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเฝ้าระวังโรค AHS ในม้าลายด้วย โดยคณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการได้มีการดำเนินการที่โบนันซ่า เอ็กโซติก ซู อำเภอปากช่อง สวนสัตว์นครราชสีมา อำเภอเมือง โบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา และ บริษัท ซาฟารี ไวล์ดไลฟ์ ปาร์ค จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี รวม 7 ตัว และมีแผนที่จะปฏิบัติงานเพิ่มอีก 4 แห่งได้แก่ บริษัท เรย์ลินกา จำกัด อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หัวหิน ซาฟารี แอนด์ แอดเวนเจอร์ พาร์ค อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และสวนสัตว์สนามบินสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการสอบสวนหาสาเหตุการระบาดของโรค AHS ในไทยด้วย รวมทั้งจะใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการควบคุม และกำจัดโรคให้หมดจากไทยโดยเร็วเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวถึงที่มีข้อสงสัยจากหลายภาคส่วนว่า เหตุใดกรมปศุสัตว์ไม่ตรวจโรคและกักกันโรคในม้าลายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า เดิมนั้นม้าลายไม่เป็นสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 กรมปศุสัตว์จึงไม่มีอำนาจในการอนุญาตนำเข้า กักกันโรคและเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่เมื่อ​เกิดการระบาดของ​โรค​ขึ้น​ นายเฉลิมชัย​ ศรีอ่อน​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในประกาศให้ม้าลายเป็นสัตว์พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทันที​ โดยมีผล​บังคับใช้​วันที่​ 8​ เมษายน​ ทำให้​กรมปศุสัตว์มีอำนาจในการอนุญาตนำเข้า กักกันโรค และเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อ​ควบคุม​และ​กำจัด​โรคได้เต็มศักยภาพ​ โดยหากสัตว์มาจากประเทศต้นทางที่มีพื้นที่เสี่ยงของโรคระบาดจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ก่อนการนำเข้าดังนี้ 1. ต้องตรวจรับรองสุขภาพสัตว์ที่ประเทศต้นทาง 2. ยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์/ซากสัตว์เข้าออกผ่านราชอาณาจักรไทย (แบบ ร.1/1) ในระบบ e-movement กรมปศุสัตว์ (เชื่อมโยงระบบ NSW กรมศุลกากร)
เอกสารประกอบการยื่นขอนำเข้าสัตว์
– หนังสือมอบอำนาจ
– หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
– สำเนาใบรับรองสถานกักกันสัตว์เพื่อการนำเข้า (ตร.4)
– (ถ้าเช่าสถานที่ต้องมีหนังสือยินยอมการใช้สถานที่)
– เอกสารแสดงหมายเลขประจำตัวสัตว์ เช่น ไมโครชิฟ หรือเบอร์หู
– Draft Health Certification (ถ้ามี)
– Invoice /Airway bill /Packing list (ถ้ามี)
– สำเนาใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือให้นำผ่านแห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 (สป.6)

จากนั้นด่านกักสัตว์ กรมปศุสัตว์ออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร ในระบบ (Notification import permit) และRequirement (เงื่อนไขการนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร) ส่วนผู้นำเข้าต้องแจ้งเที่ยวบินและกำหนดการนำเข้าและแสดงสำเนา Health certification เมื่อเอกสารครบถ้วนด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์จะออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.6)

สำหรับระหว่างการนำเข้ามีขั้นตอนดังนี้
ด่านกักสัตว์ กรมปศุสัตว์
– ตรวจสุขภาพสัตว์เบี้องต้น
– ตรวจเอกสารรับรองสุขภาพฉบับจริง (HC)
– ตรวจเครื่องหมายประจำตัวสัตว์
– กรณีสัตว์ปกติ ออกใบอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.7) (Import permit of animal(s)
– กรณีพบสัตว์ผิดปกติ/ไม่ตรงตามเงื่อนไข
– ส่งกลับ
– ทำลาย

เมื่อสัตว์มาถึงประเทศไทยแล้ว ขั้นตอนประกอบด้วย
 ด่านกักสัตว์ กรมปศุสัตว์
– ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในราชอาณาจักร (ร.3 หรือ ร.4)
– ออกบันทึกสั่งกักสังเกตุอาการหลังนำเข้า
– เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
– กรณีพบโรคระบาดจะทำลาย

สำหรับรายงานสถานการณ์การระบาดของโรค AHS เกิดขึ้นในผู้เลี้ยงม้า 118 ราย มีม้าร่วมฝูงทั้งหมด 2,260 ตัว พบม้าป่วยทั้งหมด 590 ตัว ม้าตายทั้งหมด 548 ตัว ม้าไม่ตายทั้งหมด 42 ตัว ม้าที่ป่วยตายส่วนใหญ่พบในอำเภอปากช่อง จังหวัดนคราชสีมารวม 435 ตัว คิดเป็น 79.4% จากสัตว์ที่ป่วยตายทั้งหมด

“จากการที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าไปควบคุมโรคทำให้สถานการณ์การเกิดโรคอยู่ในวงจำกัด แต่เจ้าของม้าไม่ควรประมาท ต้องดำเนินตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัดได้แก่ การป้องกันแมลง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ซึ่งการทำมุ้งป้องกันแมลงต้องใช้มุ้งขาวตาถี่ 32 ตา อีกทั้งยังต้องมีการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มเพื่อเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงที่เป็นพาหะอีกด้วยซึ่งจะทำให้สามารถกำจัดโรค AHS หมดจากประเทศไทยได้โดยเร็ว” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

 

You May Have Missed!

0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
สาวผวาหนัก ถูกโจรซุ่มชิงทรัพย์ในลานจอดรถห้างดังย่านแคราย พบคนร้ายเป็นหนี้กว่า 5 แสนบาท
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ขยี้ตารัวๆ! Ar-Lek Home ทาวน์โฮมหลังใหญ่ สไตล์มินิมอล ย่านนครปฐม ราคาเริ่มต้น 1.99 ล้านบาท
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ร่วมสร้างกรุงเทพในฝันประชาธิปัตย์ก้าวใหม่ กรุงเทพเผชิญวิกฤติทุกมิติ ฝุ่นพิษ PM 2.5  จราจร คนว่างงาน อาชญากรรมเมืองจม น้ำเน่า น้ำท่วม ฯลฯ
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC