เกษตรฯเดินหน้าเตรียมพร้อมทำประมงนอกน่านน้ำพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย
ในวันนี้ (20 พค. 63) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย พร้อมด้วย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ตัวแทนสมาคมประมงทะเลไทย และเจ้าของเรือ “ทรัพย์ดาวประมง ๕” ร่วมกัน ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมของเรือประมงไทยก่อนออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย ณ ท่าเทียบเรือประมงบ้านทรัพย์ดาว ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่ง และศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของภาคการประมง หลังเผชิญภาวะวิกฤติต่าง ๆ และมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งขณะนี้จากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวไปได้
โดยเรือประมงนอกน่านน้ำ “เรือทรัพย์ดาวประมง ๕” เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำในบริเวณพื้นที่ ซายา เดอ มาฮาแบงค์ (Saya de Malha bank) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรอบความร่วมมือว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) โดยเรือประมงทรัพย์ดาวประมง ๕ แจ้งออกวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และวันที่คาดว่าแจ้งเข้าคือ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ รวมระยะเวลาในการออกไปทำการประมงประมาณ ๑๐๓ วัน
โดยในระหว่างการออกทำประมงนอกน่านน้ำ กรมประมงมีระบบในการติดตามเรือและการทำประมงตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วยระบบระบุตำแหน่งเรือ (VMS) ระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (ERS) ซึ่งเป็นช่องทางในการรายงานผลการทำประมง และการขออนุญาตขนถ่ายสัตว์น้ำ และระบบเฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยระบบดังกล่าวจะประกอบด้วยกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งบันทึกตั้งแต่เรือออกจากท่า จนกระทั่งกลับเข้าท่า นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือ ร่วมออกเดินทางบนเรือประมงตลอดเวลาซึ่งเป็นไปตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ SIOFA และเพื่อความปลอดภัยบนเรือ ตามมาตรฐาน IUU อีกด้วย ทั้งนี้นายอลงกรณ์ ได้ลงตรวจสอบสภาพภายในเรือ ร่วมกับทุกภาคส่วนด้วยตรเองอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแผนในการสร้างกองเรือประมงนอกน่านน้ำธงไทย มีผู้ประสงค์ที่จะออกไปทำประมงนอกน่านน้ำจำนวน ๒๐ ลำ และเพื่อให้สอดคล้องในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ดังกล่าว โดยในปัจจุบันมีเรือประมงนอกน่านน้ำที่ได้รับอนุญาตแล้วจำนวน ๖ ลำ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ จำนวน ๓ ลำ ในส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการปรับปรุงเรือประมงเพื่อมายื่นขอใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ เมื่อกองเรือประมงนอกน่านน้ำออกไปทำการประมง จะมีเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เรือน้ำมันไปสนับสนุนในกิจกรรมประมงด้วย
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้กล่าวว่า หลังจากการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และการควบคุม (IUU Fishing) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับปรุงระบบการทำการประมงของประเทศไทย ทั้งระบบ จนได้รับมาตรฐานระดับสากล และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ได้ส่งผลกระทบต่อชาวประมงที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการประมง ตลอดจนการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เข้มงวด อีกทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่เว้นในภาคการประมง
โดยก่อนที่ประเทศไทยมีมาตรการเรียกเรือประมงนอกน่านน้ำกลับไทยในปี 2558 ซึ่งได้กำหนดมาตรการควบคุมที่สอดคล้องกับหลักการสากล (IUU) การทำการประมงนอกน่านน้ำมีปริมาณการจับสัตว์น้ำกว่า 2.5 แสนตันต่อปี สามารถนำรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งมาตรการเยียวยาเกษตรกร ซึ่งรวมถึงชาวประมงซึ่งขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมงตาม ทบ.3 ในการช่วยเหลือเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การผลักดันสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงวงเงิน 10,300 ล้านบาท และขณะนี้ นายอลงกรณ์ ได้ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ขอให้มีการเร่งรัดการชดเชยเยียวยา ตามโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ วงเงินช่วยเหลือ 7 พันกว่าล้านบาท ในการช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของภาครัฐกว่า 2,700 ลำ พร้อมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการในการเจรจารัฐชายฝั่งต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ชาวประมงไทยในแหล่งทำการประมงทั่วโลก ตามมาตรฐานการควบคุมการทำการประมงผิดกฎหมายที่ไทยได้ก้าวข้ามมา และเปิดศักราชใหม่ของภาคการประมงไทย ซึ่งจะเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างงานและอาชีพ ภายหลังวิกฤติ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลประเทศไทยฟื้นฟูกลับสู่ความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง