กฟผ. ขานรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำภายในเขื่อน ตามแนวทาง สทนช. เตรียมพร้อมรับมือทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน

กฟผ. ขานรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำภายในเขื่อน ตามแนวทาง สทนช. เตรียมพร้อมรับมือทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน

 

กฟผ. ร่วมบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทาง สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างใกล้ชิด พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. และ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำฯ ช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้

นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำของ กฟผ. ในช่วงฤดูแล้งนี้ว่า ได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณน้ำ ในภาพรวมของเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ โดยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนห้วยกุ่ม และเขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำต่ำกว่าระดับเก็บกักต่ำสุด ซึ่ง กฟผ. ได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำของ กฟผ. ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในเกณฑ์น้อย โดยให้มีการระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กล่าวต่อไปว่า ตลอดช่วงภัยแล้ง กฟผ. ได้มีส่วนร่วมดำเนินการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ด้วยการสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคปริมาณน้ำรวม 1,612,632 ลิตร ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังให้บริการน้ำดิบและน้ำประปา จำนวนประมาณ 28,000,000 ลิตร เพื่อใช้ในชุมชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมสนับสนุนน้ำดิบและน้ำประปา เพื่อนำไปใช้อุปโภคและทำการเกษตรผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการสูบน้ำจากหน้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งน้ำลงท่อที่เขื่อนดินช่องเขาขาด เพื่อส่งน้ำไปลงบ่อพักด้านท้ายเขื่อน และผ่านท่อของโครงการจัดหาน้ำผู้อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และคลองสิงห์ กว่า 2.18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่อยู่บริเวณริมคลองสิงห์ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการใช้อุปโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง

 

นอกจากนั้น ช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ กฟผ. ยังมีแผนตรวจสอบและประเมินความมั่นคงปลอดภัยของ ตัวเขื่อน อ่างเก็บน้ำ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน ตลอดจนตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมขัง พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำบริเวณป่ารอบพื้นที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนรัชชประภา รวม 415 ฝาย เพื่อชะลอการไหลของน้ำไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ช่วยลดการพังทลายของดิน และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป