มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดพื้นที่ ” แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม ” สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน
ให้เป็น สถานที่กักกันสำหรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ Local Quarantine แห่งที่ 2 ของจังหวัดนครปฐม
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมมือกับจังหวัดนครปฐมให้ใช้สถานที่ อาคารพัก พุม ขำเกลี้ยง ของ แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน เป็น สถานที่กักกันสำหรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ Local Quarantine แห่งที่ 2 ของจังหวัดนครปฐม
โดยอาคารพุม ขำเกลี้ยง มีห้องพักจำนวน 48 ห้อง รองรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 ได้จำนวน 96 คน พร้อมกับมีการจำกัดบริเวณเป็นสัดส่วน แบ่งเป็นโซนสีเขียว สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั่วไป โซนสีเหลือง สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายใน และโซนสีแดง สำหรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมเพื่อเป็นห้องปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 27เมษายน 2563 รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมด้วยดร.กันยารัตน์ เชี่ยวเวช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ให้การต้อนรับนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมของสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ Local Quarantine แห่งที่ 2 ของจังหวัด มีการเตรียมความพร้อมขั้นตอนปฏิบัติงาน การสั่งการ กำกับภารกิจ การสั่งการด้านการแพทย์ การตรวจวัดร่างกาย การรักษาความปลอดภัย และการจัดการอาหาร เพื่อรองรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการ ซึ่งในขณะนี้มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับสถานที่กักกันผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ Local Quarantine เป็นการแยกผู้ที่มีความเสี่ยงสูงออกจากชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง สำหรับจังหวัดนครปฐม ได้จัดตั้ง Local Quarantine จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมือง, แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม อำเภอกำแพงแสน, โรงพยาบาลบางเลน อำเภอบางเลน และวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข อำเภอนครชัยศรี สามารถรองรับผู้ที่เฝ้าระวังสังเกตอาการจากเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเป็นเพียงการรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและมีอาการไข้จะถูกส่งไปตรวจรักษายังโรงพยาบาลตามขั้นตอนโดยตรง
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
7 พฤษภาคม 2563