“เฉลิมชัย” ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่รับขึ้นและปรับปรุงทะเบียนให้เกษตรกรที่รายชื่อยังตกหล่น เสร็จภายใน 15 พฤษภาคม ย้ำเปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ให้บริการผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์

“เฉลิมชัย” ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่รับขึ้นและปรับปรุงทะเบียนให้เกษตรกรที่รายชื่อยังตกหล่น เสร็จภายใน 15 พฤษภาคม

ย้ำเปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ให้บริการผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์

 

 

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งประชาสัมพันธ์ถึงผู้ที่ยังไม่เคยขึ้นเคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรและผู้ที่ไม่ได้ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรมาเกิน 3 ปี เร่งมาติดต่อหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยเกษตรกรด้านพืช หม่อนไหม และนาเกลือให้มายังสำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด เกษตรกรประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ติดต่อสำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัด ส่วนเกษตรกรด้านปศุสัตว์ให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัด ทั้งนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและดำเนินการแก่เกษตรกรด้วยความรวดเร็ว ไปจนถึงวันที่ 15พฤษภาคม

ทั้งนี้แม้บางหน่วยงานเช่น กรมส่งเสริมการเกษตรมีแอปพลิเคชัน FarmBook สำหรับให้เกษตรกรเข้าไปปรับปรุงข้อมูลในทะเบียนเกี่ยวกับชนิดพืชและพื้นที่ที่เพาะปลูก หลังจากเพาะปลูกแล้ว 15 วัน แต่เป็นห่วงว่า เกษตรกรอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ จึงอาจเสียสิทธิ์ พลาดรับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกวัน ในเวลาราชการ ตั้งแต่ 8.30 – 16.30 น. โดยเกษตรกรกลุ่มนี้คาดว่า มีประมาณ 1.67 ล้านราย

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนี้ กระทรวงเกษตรฯ ใช้มานานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดพิบัติภัยหรือเป็นฐานข้อมูลที่ใช้สนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ จึงมั่นใจว่า การรวบรวมทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดเพื่อส่งให้กระทรวงการคลังดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะทำได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรไม่ต้องกลัวรายชื่อตกหล่นหรือกังวลว่า เข้าใช้ระบบออนไลน์ไม่เป็น ทั้งนี้เมื่อรวบรวมรายชื่อแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะใช้ระบบประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับการคัดกรองไม่ให้รายชื่อผู้มีสิทธิซ้ำซ้อนกัน กรณีบางรายลงทะเบียนไว้กับหลายหน่วยงาน โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักสำหรับยืนยันตัวตน จากนั้นจะส่งให้กระทรวงการคลังตรวจคัดกรองไม่ให้ใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน มั่นใจว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่ล่าช้า เกษตรกรรับเงินช่วยเหลืองวดแรกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

“เกษตรกรที่มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมดแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย โดยด้านเพาะปลูก หม่อนไหม และนาเกลือขึ้นกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านปศุสัตว์ขึ้นกับกรมปศุสัตว์ ด้านประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้นกับกรมประมง ชาวสวนยางขึ้นกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นอกจากนี้ยังมีชาวไร่อ้อยขึ้นกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ปลูกยาสูบขึ้นกับกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อตามทะเบียนเกษตรกร ทั้งนี้หากต้องการตรวจสอบสิทธิ์สามารถติดต่อที่หน่วยงานนั้นๆ ในพื้นที่ และหากไม่พบรายชื่อตนเองให้แจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่และทั่วถึง” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมงได้ที่เว็บไซต์ https://smartfarmer.fisheries.go.th/fisherman/index.php หากไม่พบข้อมูลการให้ติดต่อที่สำนักงานประมงจังหวัด/อำเภอในพื้นที่ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 0-2104-9444 หรือ Line : @dofhelpdesk ได้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นี้

ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมงมีอยู่ 5 ประเภทคือ 1. ทบ.1 เป็นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเช่น ฟาร์มเลี้ยง โรงเพาะฟัก 2. ทบ.3 เป็นทะเบียนชาวประมงได้แก่ ทะเบียนชาวประมง (ภาคสมัครใจ) / ทะเบียนเจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน / ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตทำการประมง / ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ตาม ม.174 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558 / ทะเบียนคนประจำเรือประมงทั้งเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน (แรงงานไทย) 3. ทะเบียนผู้จดแจ้งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึงเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตาม ม.175 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558 4. ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำในที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน 5. ทะเบียนผู้จดแจ้งการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ในพื้นที่ตามประกาศของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดตาม ม.77 พ.ศ.2558

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนกับกรมประมงให้นำบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานอื่นที่กำหนดเพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัด/อำเภอเปิดให้บริการทุกวัน โดยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) นั้น ผู้ขึ้นทะเบียนต้องอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี มีบ่อหรือกระชังหรืออื่นๆ เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเลี้ยงจริง มีเอกสารแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน, นส 3 ก, สปก 4-01 เป็นต้น หรือ ใบรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนการขึ้นทะเบียนชาวประมง (ทบ.3) ณ สำนักงานประมงจังหวัด / สำนักงานประมงอำเภอในภูมิลำเนา โดยต้องชาวประมงที่ทำการประมงทั่วไป อายุไม่น้อยกว่า 15 ปี และขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นรายบุคคล รวมทั้งเอกสารรับรอง เป็นผู้ทำการประมง โดยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน หรือ อปท. หรือ องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น หรือ สมาคมประมง หรือ สภาองค์กรชุมชน หรือ สภาเกษตรกร

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้จัดส่งรายชื่อตามทะเบียนเกษตรกรด้านพืชแก่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแล้วประมาณ 6 ล้านรายเพื่อส่งให้กระทรวงการคลังต่อไป ขณะนี้ ยังมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลอีกกว่า 1.57 ล้านราย ขณะนี้มีเกษตรกรที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อนเดินทางมาสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จึงให้เปิดบริการเกษตรกรทุกวันไม่เว้นวันหยุดเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว อีกทั้งลดความหนาแน่นและความแออัด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมส่งเสริมการเกษตรคือ หลังจากปลูกพืชแล้ว 15 วันให้นำหลักฐาน พร้อมแบบฟอร์มที่ขอได้จากอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านหรือผู้นำชุมชนมายื่นได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก ทั้งนี้ย้ำว่า เกษตรกรต้องแจ้งข้อมูลจริงต่อเจ้าหน้าที่ หากตรวจสอบพบการแจ้งข้อมูลเท็จ จะมีโทษตามกฎหมาย

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ