พช.ร่วมมือกับสวนสุนันทา นำร่องโครงการ U-OTOP หวังส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านนักศึกษาที่สนใจหารายได้พิเศษ รุกสู่ตลาดออนไลน์ สู้ภัยโควิด-19

พช.ร่วมมือกับสวนสุนันทา นำร่องโครงการ U-OTOP หวังส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านนักศึกษาที่สนใจหารายได้พิเศษ รุกสู่ตลาดออนไลน์ สู้ภัยโควิด-19

 

รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์  อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ได้รับการทาบทามและ รับโอกาสจากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญในการสร้างนักศึกษารุ่นใหม่เพื่อสังคม ภายใต้ชื่อโครงการ U-OTOP โดยมอบให้ มหาวิทยาลัยฯดำเนินการนำร่องการพัฒนานักศึกษาและคณาจารย์ที่จะเป็นที่ปรึกษา พร้อมลงภาคสนามร่วมกับพัฒนาจังหวัด โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับดี

ทั้งนี้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการนำสินค้า otop มาขายบนโลกออนไลน์ในช่วงเกิดปัญหาโควิต ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนพอสมควร แบ่งเบาความเดือดร้อนของครอบครัวได้  ส่วนผู้ประกอบการ otop ในแต่ละชุมชนก็จะได้ขยายตลาดบน online และได้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่มหาวิทยาลัยฯได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายนักศึกษาและร่วมสนับสนุนสินค้าชุมชนได้ออกสู่ตลาดยุคใหม่ 4.0 ที่สำคัญจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาต่อยอดในลำดับต่อไปอย่างยั่งยืน

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กล่าวแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่าข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสานต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและครัวเรือน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนโดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนและครัวเรือนมีความสุข ก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนอย่างมั่นคง

ขณะเดียวกันยังสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการพัฒนาสินค้า otop ควบคู่ไปกับงานชุมชนท่องเที่ยว otop นวัตวิถี

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นสินค้า otop และชุมชนท่องเที่ยว otop นวัตวิถีได้ “ เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเกิดการกระจายรายได้ให้ชุมชนตรงตามเป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในที่สุด”

ด้าน รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ U-OTOP กล่าวเสริมว่า โจทย์นี้น่าท้าทาย ต้องวางแผนระบบคิดและแก้ปัญหาต่างๆในระหว่างการดำเนินการ ตั้งแต่การคัดเลือก คัดกรอง นักศึกษา ต้องสร้างความเข้าใจในการดำเนินการ ทั้ง พัฒนาคู่มือ พัฒนาหลักสูตรและอบรมนักศึกษา อีกทั้งอบรมในระบบการขายสินค้าบน online การสร้างความเข้าใจสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภคแนวใหม่ ชุมชนสัมพันธ์ หรือ แม้การสร้างการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

ส่วนการคัดกรองตำแหน่งที่ปรึกษา จะมีการคัดสรรคณาจารย์ ที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ปรึกษา นักศึกษา และ พัฒนาแพทฟอร์มของเราเองที่มีการพัฒนาร่วมระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

“วันนี้นักศึกษา ที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยฯพร้อมจึงเริ่มดำเนินการตามที่วางแผน แรกๆเรามีปัญหาการขายของนักศึกษาเช่นกันไม่ว่า FB ของนักศึกษาที่ใช้เบื้องต้นไม่จูงใจการขาย บางครั้ง ผู้ประกอบการไม่มีสต็อค หรือ ค่าขนส่งแพง ซึ่งเป็นจุดอ่อนแต่ตอนนี้เราช่วยกันแก้ไขจนผ่านมาได้แล้ว ทำให้นักศึกษาเริ่มมั่นใจว่าทำได้ ขณะเดียวกันแพทฟอร์ม มหาวิทยาลัยกับ พช.เสร็จสมบูรณ์ จึงเชื่อมงานได้อย่างลงตัว จากนี้ไปมหาวิทยาลัย ฯ จะเป็นคู่สัญญาและดูความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประกอบการ otop และ นักศึกษา ทั้งการดูแลการส่ง การเงินบัญชี การจ่ายเงิน การเครมสินค้า ตอบได้เลยว่าเราพร้อมแล้ว” รศ.ดร.ธนสุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการ U-OTOP ที่กำลังขับเคลื่อนครั้งนี้ ได้เดินมาถูกทาง ยิ่งช่วงนี้ ครอบครัว นักศึกษา ต้องแบกภาระ ค่าเทอม ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ของลูกหลานตัวเอง หรือ ผู้ประกอบ otop อยู่ในชุมชนต้องการขยายตลาดอยู่ บางแห่งขายไม่ได้เลยก็มี ด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยและกรมการพัฒนาชุมชนจึงมีความมุ่งมั่นร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเต็มความสามารถ และ จะเป็นโครงการนำร่องที่มีความชัดเจนที่จะช่วยชุมชนและ นักศึกษา ผู้ประกอบการ otop ยืนอยู่อย่างมั่นใจในการใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้อย่างสบาย