ชุมชนคนสู้เหล้า เสริมภูมิคุ้มกันต้านภัย Covid -19 ด้วยพลังชุมชน กำหนดสภาพแวดล้อมสู่การช่วยเลิกการติดสุรา และลดนักดื่มทั้งหน้าเก่า-ใหม่ ได้ผล
แนะวิธีหักดิบ ป้องกันชีวิตจากการลงแดง
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ลดลง จากร้อยละ 25.10 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 12.10 ในปี 2560 ส่วนนักดื่มประจำในปี 2554 พบถึงร้อยละ 44.0 ใกล้เคียงกับปี 2560 พบร้อยละ 43.3 ซึ่งพบว่าในกลุ่มผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็พบว่าอัตราการดื่มประจำยังมีสถิติที่สูงมากและมีแนวโน้มเป็นนักดื่มหนักมากยิ่งขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีประกาศมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพื่อป้องกันการจับกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ผลสำรวจได้พบนักดื่มหนัก ที่มีแนวโน้มมีอาการเนื่องจากการขาดสุรา (alcohol withdrawal syndrome) หรือเรียกว่า “ลงแดง” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีแนวทาง วิธีการในการปรับตัวรับมือในช่วงหักดิบกะทันหัน เนื่องจากอาจส่งผลต่อชีวิตได้
นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้นโยบายงานบุญประเพณีปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2553 มีการดำเนินการทำงานตั้งแต่การกำหนดสภาพแวดล้อมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดให้งานศพ งานบุญประเพณีปลอดเหล้า และการยกระดับไปให้ถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีชุมชนเข้าร่วมดำเนินการกระจายทั่วจังหวัดศรีสะเกษกว่า 20 ตำบล ที่สามารถเป็นแบบอย่างเชิงรูปธรรมความสำเร็จได้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ ในชุมชนคนสู้เหล้า ที่ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ มีจำนวนนักดื่มหนักสูงขึ้นมากและยังกลายเป็นนักดื่มหนักอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นที่นิยมใช้ดื่มเป็นอย่างมาก แม้จะมีกระบวนการทำงานจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มาตรการชุมชนงานบุญประเพณีปลอดเหล้า การทำงานกับร้านค้า แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดื่มได้มากนัก กระบวนการช่วยเลิกที่ชุมชนได้ร่วมออกแบบก็ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการ เนื่องด้วยการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องมีกระบวนการที่ละเอียดลึกซึ้งและทำให้ชุมชนมีวิธีการที่เข้าถึงนักดื่มสามารถช่วยเลิกได้อย่างแท้จริง
ดังนั้นเพื่อป้องกันและเตรียมการช่วยเหลืออาการ “ลงแดง” ให้ทันเวลา จึงมีพื้นที่ดำเนินการที่เข้มข้น และเป็นต้นแบบ เช่น ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นตำบลเข้มแข็งที่ร่วมกระบวนการควบคุมคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรวมไปถึงการช่วยให้นักดื่มในชุมชนลด ละ เลิก โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร (รพ.สต.โคกเพชร) นำโดย นางเพ็ญทิวา สารบุตร ผอ.รพ.สต.โคกเพชร เป็นผู้ดำเนินการ ให้คำปรึกษาและช่วยเลิกเหล้าได้สำเร็จ โดยทาง อสม.เสริมพลัง ที่มีจิตอาสาและมีความรู้ความเข้าในการขับเคลื่อนสามารถป้องกันผลกระทบที่จะเกิดการอาการลงแดงของผู้ป่วยได้
นางเพ็ญทิวา สารบุตร ผอ.รพ.สต.โคกเพชร กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่ ต.โคกเพชร พบว่า มีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มที่ติดสุราค่อนข้างรุนแรง จำนวน 34 คน เมื่อเรามีข้อมูลของบุคคลที่จะต้องดูแล ในระยะของการเฝ้าระวัง ในช่วงที่ทางจังหวัดประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยจะมีทีมงานในพื้นที่ นำโดย น.ส.ดาวรุ่ง แซ่โค้ว กำนันตำบลโคกเพชร ทีม อสม. และทีมชมรมคนหัวใจเพชร ที่เป็นอดีตนักดื่มประจำแต่สามารถเลิกเหล้าได้สำเร็จโดยไม่หวนกลับไปดื่มอีก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่จะดูแลให้ข้อมูลแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้ลงแดง รวมถึงคนในครอบครัวถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากที่ต้องให้กำลังใจกับกลุ่มคนที่ติดเหล้าหนักเหล่านี้
สำหรับการหักดิบ หรือการเลิกดื่มสุรากะทันหัน ผู้ที่ติดสุราหนักจะมีอาการลงแดง ในช่วงแรกๆนั้น จะมีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก หงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รับประทานอาหารไม่ได้ เอะอะโวยวาย หรือบางรายอาจมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการเหล่านี้เป็นอาการที่บ่งบอกว่าอาจเกิดอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ในจำนวนบุคลคลเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ มีอยู่ 1 ราย ที่มีอาการหนักและจำเป็นต้องส่งตัวพบแพทย์ที่ รพ.ขุขันธ์ เพื่อเข้ารับการดูแลรักษา ส่วนรายอื่นๆนั้น สามารถผ่านช่วงวิกฤติมาก้าวข้ามอาการลงแดงมาได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานเป็นทีม มีการวางแผนและดูแลบุคคลที่ต้องหักดิบอย่างใกล้ชิด มีการเฝ้าระวังในเรื่องของสุขภาพจิตและอันตรายจากโรคแซกซ้อนของนักดื่มควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้นักดื่มเลิกเหล้าได้อย่างปลอดภัย
นายอนุชา พลทา อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 1 ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ช่วงอายุ 15 ปี โดยชนิดที่ตนดื่มส่วนมาก จะเป็นเหล้าขาว เหล้าสี และเบียร์ แต่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งจะดื่มกับเพื่อนเป็นประจำติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงช่วงที่โรคโควิดระบาด ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว จากนั้นได้มีประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางจังหวัดศรีสะเกษ ยังได้ประกาศห้ามร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั่วทั้งจังหวัด ส่งผลทำให้ตนเริ่มมีอาการขาดเหล้า เริ่มจากมือไม้สั่น กระวนกระวาย สับสน หงุดหงิด มีภาวะช็อค กระทั่งมีอาการหลอน นานประมาณ 3-4 วัน ซึ่งรู้สึกทรมานมาก จึงได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.โคกเพชร ทราบ และได้นำตนส่ง รพ.ขุขันธ์ ในเวลาต่อมา
ซึ่งแพทย์ รพ.ขุขันธ์ ได้ทำการตรวจรักษาแล้ว แจ้งว่าเป็นอาการของการหยุดดื่มสุรากะทันหัน หรืออาการที่เรียกว่า “ลงแดง” แพทย์ได้แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้มาก ๆ พยายามทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมเยอะๆ และนอนตั้งแต่หัวค่ำ เมื่อมีอาการอยากดื่มสุรา ก็จำเป็นต้องอด และต้มน้ำร้อนจิบ เมื่อมีอาการอยากสุรา จิบไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันสัก 2-3 วัน อาการอยากสุราจะเริ่มทุเลาดีขึ้น และได้ผลจริง ซึ่งหลังจากตนหยุดดื่มสุรามาได้ระยะหนึ่งแล้ว มีความรู้สึกสบายตัว ไม่หงุดหงิด และไม่รู้สึกอยากดื่ม
ตนคิดว่าถือเป็นโอกาสดีที่ทางจังหวัดมีการประกาศห้ามขายเหล้าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนอาจใช้ช่วงวิกฤตินี้เป็นเป็นโอกาสในการเลิกเหล้าได้ถาวร ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงคนในชุมชน สร้างความสุข สร้างภูมิต้านทานโรคได้ และตนยืนยันว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และจังหวัดยกเลิกประกาศห้ามขายเหล้าแล้ว ตนก็จะไม่กลับไปดื่มสุราอีก เพราะถือว่าตนมาไกลขนาดนี้แล้ว และกว่าจะเลิกได้ต้องใช้เวลาและทรมานมาก จึงไม่คิดหวนกลับไปดื่มอีก ทั้งนี้ตนได้รับกำลังใจจากครอบครัวและญาติเต็มร้อย ที่เข้าใจตน จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้สำเร็จ เลิกเหล้า เพื่อตนเอง และครอบครัว.
ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ