“ถอดบทเรียนแดนมังกร” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไวรัสโควิด-19 ระหว่างแพทย์จีน-ไทย ครั้งแรก ทาง 9 MCOT HD
เป็นที่เชื่อกันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 มีจุดเริ่มต้นในประเทศจีน ในปลายปี 2562 และไม่มีใครคาดคิดว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 จะขยายวงกว้างลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตหลายล้านคนและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้ออกมาประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เป็น “โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก” (Pandemic) ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือน “ทัพหน้า” (Frontliners) ในการสู้รบกับศัตรูที่มองไม่เห็น “COVID-19”
ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัส “COVID-19” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด ประเทศจีนก็ประกาศชัยชนะ เนื่องจาก“ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่” เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด อะไร คือ กุญแจแห่งความสำเร็จของประเทศจีนในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ หลังการใช้ “มาตรการปิดเมือง”(Lockdown)
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “COVID-19”ในประเทศไทยในขณะนี้ แม้ว่าจะพบว่า ตัวเลขของ “ผู้ป่วยรายใหม่” ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และเริ่มมีจำนวนลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ซึ่งหลังจากที่ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ ทีมบุคลาการทางการแพทย์ของจีน ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับประเทศต่างๆ ในรูปแบบของการถอดบทเรียนที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรค
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกับ China Media Group เอเชียแปซิฟิก (CMG) สื่อทางการของประเทศจีน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภา และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมทางไกล ระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีนและไทย เป็นครั้งแรก เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อ 2 แพลตฟอร์มไปสู่ประชาชนใน 2 ประเทศ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีน ประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, ศ.พญ.กุลกัญยา โชคไพบูลย์กิจ ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบ การหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ฯ, พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร หัวหน้าที่ปรึกษา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วิศิษฏ์ ประสิทธิศิริกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “CMG สื่อทางการของจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ อสมท โดยที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้าน Content และการร่วมกันถ่ายทอดสดกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากการที่ อสมท และ CMG มีแนวความคิดตรงกันว่า ควรมีการร่วมผลิต Content ที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ สถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ จึงเป็นที่มาของรายการพิเศษ “ถอดบทเรียนแดนมังกร” (COVID-19 Frontline) ด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ว่า ประเทศจีนรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างไร จนกระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ ได้เป็นผลสำเร็จ ถือได้ว่า จะเป็นการถ่ายทอดบทเรียนและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่างแพทย์จีนและไทย เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเผยแพร่ผ่าน 2 แพลตฟอร์ม ใน 2 ประเทศ ผู้ชมพันกว่าล้านคนในประเทศจีนจะได้รับชมผ่านทาง CGTN แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ของ CCTV และผู้ชมในประเทศไทย จะได้รับชมทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 สิ่งที่เราได้ร่วมมือกันวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Content ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชีย”
แพทย์จีนยืนยัน การแพร่ระบาดใน “เอเชีย” ไม่รุนแรงเท่า “ยุโรป” มีประเด็นที่น่าสนใจในการถอดบทเรียน “จีน” ในการรับมือ โควิด-19 หลายประเด็น นอกเหนือจากการที่จีนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว คณะแพทย์จีนได้ยืนยันว่า จากการศึกษาของนักไวรัสวิทยาจีน พบว่า ไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีการกลายพันธุ์ แต่ถ้ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการรักษาแต่อย่างใด แต่ต้องติดตามว่ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายและผลกระทบของโรค โดยขณะนี้ คณะวิจัยของจีน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังพัฒนาวัคซีน อยู่เช่นกัน คณะแพทย์จีนให้ความเห็นว่า ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแถบเอเชียไม่รุนแรงเท่ากับในแถบยุโรป ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะในแถบเอเชียมีอุณหภูมิที่สูงกว่า และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ อาจมีผลมาจากผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
หัวใจสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถยับยั้งการพัฒนาของโรคได้หรือไม่ แต่แพทย์จีนได้ทดลองใช้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อขนานเดียว โดยมุ่งเป้าให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงเพิ่มและ สามารถหายจากโรคได้โดยเร็วที่สุด ต่างจากไทยคือ ใช้ยาสองขนานร่วมกันในการรักษาผู้ติดเชื้อ โดยทดลองใช้ยาที่มีอยู่ ในประเทศ หรือเป็นยาที่สามารถจัดหาได้โดยเร็ว ซึ่งแพทย์จีนได้ให้คำแนะนำถึงการใช้ยาร่วมของไทยว่า ควรทำการทดลองเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปของการใช้ยาในแนวทางนี้ และการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า จะสามารถยับยั้งการพัฒนาของโรคได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง
สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อที่หายแล้วกลับมาเป็นซ้ำในประเทศจีน จากการศึกษาโดยใช้ลิงเป็นต้นแบบ พบว่าลิง ไม่สามารถติดเชื้อซ้ำได้ แต่ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยมีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการ ขับเชื้อที่มีระยะเวลานาน ซึ่งสามารถนานได้ถึง 2 เดือน แต่อัตราการติดเชื้อซ้ำมีความเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้จีนยังได้ทดลองการให้พลาสมา (Plasma) หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่เคยติดเชื้อ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้กันมานานแล้ว โดยได้ทดลองกับผู้ป่วยเพียง 5 คนในเมืองอู่ฮั่น พบว่า มีอาการดีขึ้น
ส่วนความเชื่อเรื่อง ในช่วงฤดูฝนจะทำให้มีการแพร่กระจายของโรคมากขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ได้เพียง 4 – 5 ชั่วโมง เมื่ออยู่ในความร้อนและแห้ง ซึ่งช่วงฤดูฝนที่มีอุณหภูมิเย็นลงและมีละอองฝอยของฝนจะทำให้ไวรัสอยู่ได้นานขึ้น ดังนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ไปอยู่ในปัจจัยเสี่ยง โดยจะต้องไม่ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น
ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงประโยชน์ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างแพทย์จีน-ไทยว่า “ทำให้ได้เรียนรู้ประเด็นปัญหาและ แนวทางแก้ไขจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจีน มาตรการของจีนมีความเข้มงวดในเรื่องของการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและ Social Distancing การเว้นระยะทางกายภาพกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้ไทยเอามาปรับใช้ได้ เป็นแบบอย่างให้ไทยวางแผนรับมือกับไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากจีนผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้และเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติได้บ้างแล้ว หากทางไทยจะเอาแบบอย่างจีนในการออกมาตรการผ่อนปรน เราทุกคนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดี มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ดังนั้น การถอดบทเรียนในครั้งนี้ ข้อสรุปของแต่ละคำถามที่คณะแพทย์ไทยได้แลกเปลี่ยนกับแพทย์จีน ทางแพทยสภา จะนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสื่อสารให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศทราบแนวการปฏิบัติ โดยให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า ความคาดหวังในการที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัส COVID-19 นั้น คาดว่าจะยังคงใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกระยะหนึ่ง”
สาธารณรัฐประชาชนได้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว เมื่อประสบภัยเดือดร้อน จีน และ ไทย เราต่างไม่ทิ้งกัน การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นภาพความร่วมมือครั้งสำคัญ อีกครั้งหนึ่งของทั้ง 2 ประเทศ เพราะ “ไวรัสนั้นไม่มีพรมแดน” ติดตามรายการพิเศษ “ถอดบทเรียนแดนมังกร” (COVID-19 Frontline) ในวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน นี้ เวลา 20.35 – 21.50 น. ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30