กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะเขื อเทศเฝ้าระวังโรคไวรัสในมะเขือเทศ
จากสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากไวรัส 4 โรค คือ โรคใบหงิกเหลือง โรคใบด่างเรียวเล็ก โรคใบด่าง และโรคเหี่ยวลาย ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ กรณีโรคใบหงิกเหลือง จะพบใบยอดและใบอ่อนหดย่นหงิกสีเหลือง ขอบใบม้วนงอ ยอดเป็นพุ่ม ใบแตกใหม่เล็ก ต้นแคระแกร็น ไม่ติดผล หรือติดผลน้อยมาก ส่วนโรคใบด่างเรียวเล็ก มักพบใบด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ม้วนงอ ต่อมาใบเรียวเล็กกว่าปกติ หากรุนแรงมาก ใบจะเรียวเล็กเหลือแต่เส้นกลางใบ ต้นชะงักการเจริญเติบโต ไม่ติดผล หรือมีผลเล็ก ถ้าเกิดโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นแคระแกร็น ไม่ติดผล
สำหรับโรคใบด่าง จะมีใบด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อนหรือสีเหลือง ใบอ่อนหดย่นเป็นคลื่นมีขนาดเล็กกว่าปกติ และใบยอดที่ปลายกิ่งบิดเกลียว ต้นชะงักการเจริญเติบโต ติดผลน้อย ผลด่าง หากเกิดโรคในระยะกล้า ต้นแคระแกร็น ใบเล็กและลดรูป ในส่วนของโรคเหี่ยวลาย มักพบใบมีแผลเนื้อเยื่อตายสีน้ำตาลเข้มหรือดำกระจายทั่วทั้งใบ หรือเกิดรอยด่างสีเหลือง ใบยอดด่างและยอดสั้น ใบอ่อนแห้งตายจากปลายใบเข้าหาโคนใบ ใบแก่มีสีเหลืองขนาดเล็กกว่าปกติ ตามแนวยาวของลำต้นและก้านใบมีรอยขีดสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลเสียรูปทรง ผิวผลพบเนื้อเยื่อตายเป็นวง กรณีรุนแรง กิ่งและลำต้นเปลี่ยนเป็นสีดำ เหี่ยวเฉา และตายในที่สุด
ในพื้นที่ที่พบการระบาดของทั้ง 4 โรคนี้ ให้เกษตรกรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ ถ้าพบต้นที่เป็นโรคให้ถอนแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที ควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ให้เก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากพบโรคในแปลงที่จะปลูกฤดูถัดไป ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อใกล้แปลงปลูกมะเขือเทศ เช่น ขึ้นฉ่าย ยาสูบ งา กะเพราขาว ตำลึง หงอนไก่ บานไม่รู้โรย ทานตะวัน พืชตระกูลแตง พืชตระกูลถั่ว และพืชตระกูลมะเขือ อีกทั้งควรเลือกใช้กล้าพันธุ์มะเขือเทศที่ต้านทานโรค แข็งแรง และปลอดโรคมาปลูก
นอกจากนี้ ตัวเชื้อไวรัสสาเหตุโรคทั้ง 4 โรคยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่สามารถป้องกันได้โดยพ่นสารกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำโรค อาทิ แมลงหวี่ขาว พ่นด้วยสารอะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนเพลี้ยอ่อน พ่นด้วยสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และเพลี้ยไฟ พ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร